วงจรราคาในแนวทางการวิเคราะห์แบบ Wyckoff Method ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง ยึดมั่นและใช้เป็นแนวทางหลักในการทำนาย และ ติดตามราคาหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้น… นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจะใช้หลักการของ Wyckoff เพื่ออธิบายพฤติกรรมราคาช่วงผันผวนในกรอบแคบๆ หรือ Sideway เพื่อใช้ตัดสินใจปรับพอร์ตลงทุน และ อธิบายเหตุผลเชิงจิตวิทยาต่อการตัดสินใจต่างๆ ให้ตัวเอง
ท่านกำลังอ่านบทความชุด Wyckoff Method… พื้นฐานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ และ Cryptocurrency ตามวิธีของวิคคอฟฟ์ ซึ่งจำเป็นต้องเขียนขึ้นเป็นหลายตอน เพื่อเจาะลึกเอารายละเอียดในหลักการและเครื่องมือ มาแนะนำผ่านมุมมอง และ รายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะเป็นแนวทางตั้งต้น ในการเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตัวเองสำหรับทุกท่านที่สนใจแนวทางนี้… ตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ต่อจาก Wyckoff Price Cycle… วงจรราคาของวิคคอฟฟ์ ครับ
สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้น และ ตลาด Forex รวมทั้งตลาดคริปโตจะต้องเจอเหมือนกันก็คือ วงจรราคาขาขึ้น และ ขาลงอย่างรุนแรง อันมาจากแรงขายมากมายที่เทขายสินทรัพย์ออกมาทุกราคา จนเส้นกราฟปักหัวดำดิ่งลงอย่างรุนแรง… เห็นเป็นแท่งกราฟใน Time Frame รายชั่วโมง หรือ แม้แต่รายวัน กลายเป็นแท่งยาวจากบนลงล่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหลายแท่งลดหลั่นลงต่ำต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระยะ MarkDown ในวงจรราคาให้เห็นอย่างชัดเจน และเกิด Bearish Trend ในวงจรราคาอย่างชัดเจนด้วย
ในภาวะเช่นนี้… ในเบื้องต้นตามวิธีของวิคคอฟฟ์ หรือ Wyckoff Method จะถือว่าเป็นการเข้าสู่ระยะสะสม หรือ Accumulation Phase เมื่อสิ้นสุดระยะ MarkDown ณ ราคาต่ำสุด หรือ Selling Climax ที่ราคาใดราคาหนึ่ง โดยมี Volume หรือ ปริมาณการซื้อขายมากเป็นพิเศษ ยืนยันจุดต่ำสุดของราคาใน Bearish Trend รอบนี้เพื่อเริ่มต้นระยะสะสม… ซึ่งราคาจะยิ่งผันผวนขึ้นลงต่อไป เพียงแต่จะเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบกว่าระยะ Markdown
ถึงตรงนี้… สิ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจก็คือ พฤติกรรมราคาตาม Wyckoff Method จะต้องใช้เวลาในการสะสมหลักทรัพย์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ ไปอีกระยะหนึ่ง… ซึ่ง Wyckoff Method จะแบ่งเฟสความเคลื่อนไหวของราคาเอาไว้ถึง 5 เฟส…
1. Phase A
เป็นช่วงจังหวะของการร่วงลงจนสิ้นสุด ณ ราคาต่ำสุด หรือ Selling Climax หรือ SC จนเห็นแรงซื้อมากเป็นพิเศษท่ามกลางราคาลดต่ำลง และ ควรมี Preliminary Support หรือ PS ก่อนถึง Selling Climax และเห็นกราฟราคาดีดตัวกลับแบบอัตโนมัติ หรือ Automatic Rally หรือ AR… ก่อนจะปรับตัวลงมาทดสอบราคาเหนือกว่า SC เล็กน้อย เรียกว่า Secondary Test หรือ ST เพื่อจบ Phase A
2. Phase B
เฟสนี้มีชื่อเรียกว่า Building A Cause หรือ สร้างเหตุผลเพื่อสะสมสินทรัพย์โดยเฉพาะการสะสมจากนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ จะเห็นการแกว่งตัวของราคาที่รุนแรง และ เห็นราคา Sideways ในกรอบกว้างขึ้น พร้อมปริมาณการซื้อขาย หรือ Volume ที่ค่อนข้างมาก… ระยะนี้จะเป็นระยะที่นักลงทุนรายใหญ่จะเล่นกับจิตวิทยาตลาด เพื่อเขย่าเอาหลักทรัพย์ราคาต่ำออกมา… ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามปริมาณการซื้อขาย หรือ Volume ที่ต้องรอจนเห็น “ปริมาณการซื้อขายลดลง” อย่างชัดเจนและต่อเนื่องเพื่อจบ Phase B
3. Phase C
เฟสนี้จะเป็นช่วงเวลาในการทดสอบแรงขายตกค้าง เพื่อเขย่าหาแรงขายจนเจอ Last Point Of Support หรือ LPS หรือ แนวรับสุดท้าย ซึ่งราคามักจะต่ำลงกว่า Phase B แต่เคลื่อนไหวในกรอบแคบลงกว่ากันมาก และ จะเห็นแรงซื้อออกมาตั้งรับโดยไม่มีแรงขายแถวๆ ราคา LPS…
4. Phase D
เฟสนี้จะเห็น Demand หรือ แรงซื้อมากกว่า Supply หรือ แรงขาย… เกิดแท่งเทียนสีเขียวยาวๆ ยกราคาขึ้นให้เห็น พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย หรือ Volume ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน… แต่พฤติกรรมราคาก็จะยังผันผวน และ มีแรงขายสวนออกมาเสมอ… แต่นักวิเคราะห์จะตามดูกราฟราคาให้เห็นการยกตัวขึ้นไปอย่างชัดเจน ก่อนจะผันผวน และ Sideway อีกช่วงหนึ่งในลักษณะ Backup หรือ BU และ ทำ Last Point Of Support หรือ LPS หรือ แนวรับสุดท้าย เหนือราคาดีดตัวกลับแบบอัตโนมัติ หรือ Automatic Rally หรือ AR ใน Phase A
5. Phase E
เฟสนี้จะเห็นราคาทำลุแนวต้านหลัก พร้อมแรงซื้อ หรือ Demand ที่สามารถยกกราฟชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง… ซึ่งจะเกิดการไล่ราคาจนไปยืนเหนือราคาชวง Preliminary Support หรือ PS ก่อนถึง Selling Climax ใน Phase A… พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กลายเป็นแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish Trend อย่างชัดเจน และ เป็นระยะ MarkUp เพื่อไปให้ถึง Phase A ของ Distribution Phase…
ตอนหน้ามาดูพฤติกรรมราคาใน Distribution Phase หรือ ระยะแจกจ่าย หรือ ระยะแกะขายทำกำไรไปพร้อมกันครับ!!!