ประเด็นไวรัสโคโรน่าจากอู่ฮั่น ส่งผลกระทบแรงขึ้นในหลายๆ มิติอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมายให้เราได้เรียนรู้ จดจำและนำไปใช้วิเคราะห์สถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในอนาคตได้หลายอย่าง
ผมเป็นนักวิเคราะห์มือสมัครเล่นมานานที่ชอบเรียนรู้ บันทึกและจดจำเหตุการณ์ในอดีต เพื่อคาดคะเนเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็ไม่ค่อยมีพรสวรรค์ทางด้านนี้นัก ที่การคาดการณ์ด้วยตัวเองบ่อยครั้ง ไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงลิบลับ จนทำให้ผมต้องตามอ่านและเรียนรู้ความเห็นอื่นๆ จากบุคคลหรือแหล่งที่เชื่อถือได้มาตลอด
กรณีไวรัสโคโรน่าระบาดรุนแรงในจีน… แม้ว่าโดยเหตุการณ์และสถิติจะดูไม่ใช่เรื่องระดับที่สุดของวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้น… เพียงแต่ที่ต่างออกไปคือข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏข่าวปลอมระบาดยิ่งกว่าไวรัสสายพันธุ์ใดๆ ในโลก… ซึ่งร้ายกาจต่ออาการมือลั่นของคนยุคนี้ที่แชร์ก่อนคิด…
ประเด็นก็คือ… ทั้งข้อเท็จจริงและข่าวลวงมีผลกระทบต่อความตื่นตระหนกของคนหมู่มาก ซึ่งความตื่นตระหนกจะมาจากอะไรก็ตามแม้กระทั่งเรื่องไม่จริงทั้งเพ… แต่ความตื่นตระหนกได้เกิดไปแล้วและหลายเหตุการณ์ต่อจากนั้นก็ตามมา
โคโรน่าไวรัสจึงเป็นเพียงต้นเหตุที่สร้างผลกระทบ โดยมีการเสริมแรงความหวาดวิตกด้วยข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและหลอกลวง ช่วยขยายผลกระทบหลายอย่างให้เสียหายต่อเนื่องมากมาย
หันมาดูผลกระทบที่เกิดกับฝั่งอสังหาริมทรัพย์… เวบไซต์ฐานเศรษฐกิจได้รวบรวมความเห็นผู้มีชื่อเสียงในวงการอสังหาริมทรัพย์มากมายรายงานไว้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า… ผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากอู่ฮั่น ไม่น่าจะส่งผลมากมายและยาวนาน กรณีตัวเลขต่างๆ ที่ทุนจีนหายไปจากตลาด ส่วนใหญ่ก็เกิดมาตลอดอย่างน้อยก็เกิน 12 เดือนมาแล้วตั้งแต่สงครามการค้าจีนสหรัฐดุเดือดเลือดพล่านโน่นแล้วเป็นอย่างน้อย ส่วนผลกระทบจากการกักกันจนธุรกรรมที่นัดหมายช่วงนี้ต้องเลื่อนออกไป หลายฝ่ายก็เชื่อว่ากระทบไม่มาก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ย่อมมีแผนสำรองอยู่ระดับหนึ่ง… ยกเว้นเฉพาะกรณีการท่องเที่ยวมิติเดียวที่แม้สุดท้าย ผลกระทบจะต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ถึงวงจรเศรษฐกิจทั้งระบบ… แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เกิดเอาตอนไวรัสโคโรน่าระบาด
รายงานจากศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ก็เคยรายงานไว้ว่า… ตลาดทุนจีนมีการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงปี 2018-2019 อย่างมีนัยยะ นับตั้งแต่จีนเองก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจการค้าภายในหลายอย่าง ตั้งแต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเองชะลอตัวลง จนถึงผลของนโยบายปฏิรูปโครงสร้างฝั่งอุปทาน หรือ Supply-side Structural Reform ก็ดี หรือแม้กระทั่งการเข้าไปควบคุมจัดการ Shadow Banking รูปแบบต่างๆ… ต่อเนื่องด้วยสงครามการค้าและอะไรต่อมิอะไรที่วันชื่นคืนสุขของเศรษฐกิจจีนได้ผ่านไปแล้ว
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นแล้วก็กระทบแล้ว… คุณอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทยให้ความเห็นว่า… การปิดประเทศของจีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้ลูกค้าจีนหายไปจากตลาดคอนโดมิเนียมไทยเพิ่มขึ้นอีก 50% เมื่อเทียบจากมูลค่าการซื้อขายเมื่อปี 2562 ที่ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
ผมแนบลิงค์ข้อมูลต้นฉบับไว้ใต้อ้างอิงน๊ะครับ… เผื่อท่านที่สนใจรายละเอียด… เพราะผมจะตัดจบตรงนี้เลยว่า เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงมากค่อนข้างแน่ อย่างน้อยก็ครึ่งปีแรกนี้ที่การลงทุนใดๆ ต้องรอบคอบ แต่ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ… โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ใครมีช้อนก็เตรียมตัวก็แล้วกันครับ ทำการบ้านให้มาก ศึกษาทำเลให้แตก เรียนรู้ช่องทางและกลยุทธ์ให้ชำนาญ… เวลาช้อนจะได้ไม่พลาด
อ้างอิง