ผมเป็นคนชอบอ่านนวนิยายแนวเล่าเรื่องด้วยกระแสสำนึก หรือ Stream of Consciousness ซึ่งเป็นงานเขียนที่ผู้แต่งใช้ตัวละครเล่าเรื่องผ่านมุมสัมผัสของตัวเอง โดยจะเห็นคำว่า ฉัน… ผม… หรือข้าพเจ้า ในรอยต่อของการสนทนาและเหตุการณ์ ที่บอกมุมคิดและการตัดสินใจของตัวละครชัดเจนกว่าเรื่องเล่าที่ใช้เหตุการณ์ขับเคลื่อน
นวนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway ถือเป็นงาน Stream Of Consciousness แห่งศตวรรษที่ 20 ที่ได้รับยกย่องอย่างมากในวงการวรรณกรรมโลก… บทสนทนาภายใน หรือ Interior Monologue ของตัวละครนั่นเองที่พาคนอ่าน พัฒนาประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับเรื่องราว… คนเขียน Mrs. Dalloway มีนามว่า Virginia Woolf
Virginia Woolf เป็นสาวอังกฤษที่เกิดและเติบโตช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในเดือนมกราคม ปี 1882… เป็นนักเขียนแนว Feminism หรือสตรีนิยมที่แทรกประเด็นบทบาททางเพศ ครอบครัวและสังคม อย่างความเป็นแม่บ้านแม่เรือน หรือ Domesticity และ ตัวตน หรือ Identity ไว้ชัดเจนในงานเขียนของเธอ
Virginia Woolf เป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งจากการเสียบิดา Sir Leslie Stephen ในปี 1904 ซึ่งขณะนั้น Virginia Woolf อายุ 22 ปี
การพยายามฆ่าตัวตายของ Virginia Woolf ทำให้ Leonard Woolf สามี… พาเธอย้ายครอบครัวออกจากลอนดอนไปอยู่ชานเมืองที่ Bloombery ถาวร… และ Leonard Woolf ได้ตั้งสำนักพิมพ์ Hogarth Press ขึ้นที่นี่
ที่ Bloombery นี่เองที่เกิดกลุ่มวรรณกรรม และการรวมตัวของนักเขียนมีชื่อเสียงและผลงานขึ้น ซึ่ง Virginia Woolf และ โรงพิมพ์ Hogarth Press นั่นเองที่เป็นศูนย์กลาง
และเมื่อ Virginia Woolf พบกับ Vita Sackville-West จากกลุ่มวรรณกรรมบลูมเบอร์รี่ ทั้งคู่ก็สนิทสนมและเขียนจดหมายรักถึงกันมากมาย ซึ่งเป็นสัมพันธ์รักแบบหญิงรักหญิง ที่ต่างก็ต้องเป็น “แม่บ้านแม่เรือน” ให้ผู้ชายที่พวกเธอก็ยังรักและไว้ใจ… ว่ากันว่า แรงใจจาก Vita Sackville-West ผลักดันงานเขียนของ Virginia Woolf มากมายให้สะท้อนสถานภาพและจินตนาการของผู้หญิง พรั่งพรูออกมาจากกระแสสำนึกของตัวละครเอกในนวนิยายที่ Virginia Woolf รังสรรค์ขึ้น
ตัวอย่างการอยู่ด้วยความสุขจากความสุขของคนรอบข้าง สร้างตัวละครอย่าง Mrs. Dalloway ผู้ชื่นชอบการจัดปาร์ตี้ดีๆ ให้ทุกคนรอบตัว แม้จะเหนื่อยและหดหู่กับตัวเองแค่ไหน… หน้าชื่นอกตรม และเป้าหมายในชีวิตแต่ละวันขึ้นอยู่กับคนรอบตัวทุกอย่าง แม้ไม่ใช่ความผิดของคนรอบตัว แม้ไม่เคยมีการร้องขอ… แต่คนที่อยู่ผิดที่ผิดเวลา… คนที่อยู่ไปวันแล้ววันเล่า จนจุดหมายปลายชีวิตลางเลือน… เป็นลมใต้ปีกใครต่อใครได้หมด แม้ไม่รู้ว่าจะต้องพยุงปีกเหล่านั้นไปทางไหน… ความเจ็บปวดลึกๆ ย่อมมีเสมอในทุกจิตใจ
นวนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway จึงกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ถูกใจสาวๆ ตะวันตกที่ยอมเป็นช้างเท้าหลังจนอ่อนล้า ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของพวกเธอที่ตื่นมาเช้าวันหนึ่ง ต่างก็ไม่เหลือตัวตนให้รู้จัก… Mrs. Dalloway ถูกนำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ออกฉายในปี 1997…
ปี 1998… Michael Cunningham ก็พิมพ์นวนิยายเรื่อง The Hours ออกวางตลาดโดยมีนวนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway เป็นศูนย์กลางของโครงเรื่อง เขียนเชื่อมเรื่องราวของผู้หญิง 3 คน จาก 3 ยุคสมัยที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายเรื่อง Mrs. Dalloway…
ปี 2002… The Hours ถูกทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปีนั้น โดยมีดาราสาวเจ้าบทบาท 3 คนมารับบทได้แก่… Nicole Kidman… Meryl Streep และ Julianne Moore… หนังทำรายได้ 108.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… พร้อมรางวัลออสการ์ดารานำหญิงยอดเยี่ยมปี 2002 ของ Nicole Kidman และมีชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาอื่นๆ ในปีเดียวกันมากถึง 9 รายการ
ตัวผลงานของ Virginia Woolf เอง… นอกจาก Mrs. Dalloway ในปี 1925 แล้ว… ก่อนหน้านั้นก็มีนวนิยายเรื่อง Jacob’s Room ในปี 1922 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญอย่างมาก… จึงไม่น่าแปลกใจที่งานชิ้นต่อมาอย่าง Mrs. Dalloway จะกลายเป็นงานยอดเยี่ยมและอมตะจนถึงปัจจุบัน… ปี 1927 ก็ตีพิมพ์นวนิยายอมตะอีกเรื่องคือ To The Lighthouse… ตามด้วย Orlando ปี 1928… A Room of One’s Own ปี 1929… The Waves ในปี 1931 และ Between The Acts ในปี 1941…
วันที่ 28 มีนาคม ปี 1941… Virginia Woolf วัย 59 ปีก็เดินไปที่แม่น้ำอูส หรือ River Ouse… ใส่ก้อนหินหนักๆ ในกระเป๋าเสื้อโค้ท และเดินลงแม่น้ำเพื่อปิกฉากตัวละครชื่อ Virginia Woolf ที่นั่น… ทิ้งงานเขียนชิ้นสุดท้ายเป็นจดหมายถึง Leonard Woolf สามีว่า… I don’t think two people could have been happier than we have been… ฉันไม่คิดว่าจะมีคนสองคนที่มีความสุขไปมากกว่าที่เราสองคนมี
โดยส่วนตัวผมได้ยินชื่อ Virginia Woolf จากปากครูสอนงานเขียนให้ผมเมื่อนานมาแล้ว… ท่านเล่าเรื่องคุณนายดอล์โลเวย์ ให้ผมฟังในวงเหล้าคืนหนึ่ง หลังจากอ่านต้นฉบับที่ไม่ได้เรื่องจากผม ซึ่งท่านวิจารย์ว่าเป็น Stream Of Consciousness ที่ยังต้องลึกซึ้งกว่านั้นจึงจะเสนอโรงพิมพ์ได้ แล้วท่านก็เล่าอะไรมากมายให้ฟัง และบ่นเสียดายที่ไม่มีงานแปลของ Virginia Woolf เป็นภาษาไทยเลยในสมัยนั้น ซึ่งท่านอยากให้ผมอ่าน… นับสิบกว่าปีจากวันนั้น ผมจึงได้ยืม Mrs. Dollaway ฉบับภาษาอังกฤษมาอ่าน… แน่นอนว่าผมอ่านไม่รู้เรื่องและถอดใจหลังจากอ่านไปสามสี่พารากราฟ…
อีกนับสิบปีต่อมา… ผมต้องไปพูดเรื่อง Self Awareness ให้องค์กรแห่งหนึ่ง… ผมค้นพบคำคมประโยคหนึ่งของ Virginia Woolf ที่ว่า… Without Self Awareness We Are As Babies In The Cradles… ถ้าไม่รู้จักเท่าทันเชื่อมั่นตนเอง เราก็ไม่ต่างจากทารกในเปลหรอก… ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังใช้ประโยคนี้กับการสนทนาเรื่อง Self Awareness อยู่เสมอ
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ!
อ้างอิง