ความท้าทายใหม่หลายอย่างที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิด นอกจากจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจนถึงหลักคิดความเชื่อของพวกเราแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือเทคโนโลยีทุกสาขา ถูกประยุกต์และปรับใช้ทดแทน “วิถีดั้งเดิม” หลายอย่างที่สะดุดลง…
ประเด็นก็คือ… วิถีดั้งเดิมหลายอย่างที่สะดุดลงได้กลายเป็นปัญหาซับซ้อนรอการแก้ไข ซึ่งหลายปัญหาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญจนการปรับตัวอย่างหยาบๆ เพียงเพื่อให้พ้นปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว… แทบไม่ได้ช่วยทดแทน หรือแม้แต่ชดเชยคุณค่าแบบดั้งเดิมที่ถูกทำลายลงโดยไม่ทันตั้งตัวได้
กรณีอุตสาหกรรมการศึกษาในวันที่ขนนักเรียนไปเจอครู และ เรียนสอนกัน OnSite มานานโดยไม่เคยคิดว่าจะต้องเปลี่ยนมาเรียนสอน Online กันเป็นกิจจะลักษณะในพอศอนี้… หรือแม้แต่ธุรกิจการค้า การลงทุนและการเดินทางแบบดั้งเดิมที่เคยเคลื่อนย้ายคนกับความมั่งคั่งไปด้วยกัน ซึ่งเกินวิสัยที่จะคิดออกว่าสักวันเราอาจจะออกจากบ้านตัวเองไม่ได้เหมือนกันหมดทั้งโลก
ความท้าทายครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในวิกฤตโควิด จึงรอให้วิกฤตเลวร้ายที่เปลี่ยนความคุ้นเคยดั้งเดิมของมนุษย์ทั้งหมดให้ผ่านพ้น ด้วยความหวังว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมนั้น… คงยากแล้ว!
จริงอยู่… ปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ในวันหนึ่งข้างหน้ายังไงเสียก็ต้องจบลง ซึ่งหลายอย่างอาจจะกลับมาเหมือนเดิมหรือคล้ายเดิม แต่ทุกคนรู้ดีว่า… ไม่ใช่ทุกอย่างแน่นอนที่จะกลับมาเหมือนเดิม เอาแค่เรื่องนัดประชุมที่ก่อนนั้นเคยนัดเวลาสถานที่ตรงกันได้ยากเย็น ย่อมจะถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมการประชุมออนไลน์ค่อนข้างแน่… ซึ่งถ้าการประชุมออนไลน์เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย กิจกรรมและธรรมเนียมหลายอย่างหลังจากนี้ก็คงเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนไปเลยอีกมากเช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… หลายคนจากหลายวงการที่ได้รับผลกระทบครั้งสำคัญนี้ต่างก็มี “แนวคิด” จากมุมมองหลากหลายที่จะปรับตัว และ เปลี่ยนแปลงบางสิ่ง หรือ ถึงขั้นเปลี่ยนเกือบทุกสิ่งให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของอนาคตที่อยู่ไม่ไกลนับจากนี้… การปรากฏขึ้นของแนวคิดพร้อมการกระทำที่แตกต่างกัน ท่ามกลาง “ปัญหาที่มีร่วมกัน… ในบริบทที่แตกต่างกัน” จนหลายกรณีปรากฏให้เห็นเป็น “ความขัดแย้งทางความคิด กลายเป็นขัดแย้งในทางปฏิบัติ” จนดูสับสนเคร่งเครียดปรากฏขัดแย้งอยู่ทั่วไป
Tim Berners-Lee เคยพูดถึงความหลากหลายทางความคิด หรือ Diversity Of Thought เอาไว้ว่า… We Need Diversity Of Thought In The World To Face The New Challenges… แปลว่า เราต้องการความหลากหลายทางความคิดในโลกที่เราต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ
Sir Timothy John Berners-Lee หรือ Tim Berners-Lee เป็นผู้ให้กำเนิด WWW Protocol ที่วิวัฒน์เติบโตบนเครือข่าย Internet มาเพียงสามสิบปีเศษ แต่ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโลกในวันที่ “คนเคลื่อนที่ได้ลำบาก” แต่ข้อมูลข่าวสารมากมายกลับถูกเคลื่อนย้ายแบ่งปันได้ง่ายดายผ่าน WWW หรือ World Wide Web ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่ในรูป HyperText จากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องทุกรูปแบบที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทั้งหมด
ปี 1989… Tim Berners-Lee ซึ่งขณะนั้นเป็นนักฟิสิกส์อยู่ที่ European Organization for Nuclear Research หรือ CERN ได้ส่งเอกสารชื่อ Information Management: A Proposal กับ Mike Sendall หัวหน้างานของเขาเพื่อทำโครงการเชื่อมโยงเอกสารมากมายที่สถาบันวิจัย CERN ต้องสืบค้นอ้างอิงใช้เพื่อร่วมกันทำงานวิจัยที่มีข้อมูลมหาศาล โดยมี Internet Technology ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างแล้ว หลังจากประสบความสำเร็จในการทำวิจัยและทดลองใช้งานทางกลาโหมมาระยะหนึ่ง โดยเผยแพร่ออกจาก Advanced Research Projects Agency หรือ ARPA หรือ ในปัจจุบันคือ Defense Advanced Research Projects Agency หรือ DARPA ในปี 1960… ถูกใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการแชร์เอกสารใน CERN ภายใต้แนวคิด HyperText ของ Tim Berners-Lee
เว็บไซต์แรกของโลกจึงถูกสร้างขึ้นที่ CERN และ ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1991 โดยเวบเพจหน้านั้นให้คำอธิบายว่า World Wide Web คืออะไร… จะเป็นเจ้าของเบราว์เซอร์ทำได้อย่างไร และ จะติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างไร… นอกจากนั้น Web-Server ของ Tim Berners-Lee ยังถือว่าเป็น Web Directories แรกของโลก ซึ่งให้บริการเวบไซต์อื่นๆ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่… โดยเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จากเครื่องมือช่วยทำเอกสาร มาเป็นเครื่องมือทางข้อมูลสำหรับมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ปี 1994… Tim Berners-Lee ได้ก่อตั้ง World Wide Web Consortium หรือ W3C ขึ้นที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT โดยมีสถาบันและบริษัทเทคโนโลยีมากมายพร้อมใจเข้าร่วมสร้างมาตรฐาน WWW โดย Tim Berners-Lee ไม่จดสิทธิบัตร และ ไม่เรียกรับค่าตอบแทนนวัตกรรมที่ตัวเองพัฒนาขึ้นแต่อย่างใด
ธันวาคม 2004… Tim Berners-Lee รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ณ University of Southampton ในประเทศอังกฤษ และริเริ่มพัฒนาโครงการ Semantic Web หรือ Web 3.0 ขึ้นจากที่นี่… และในวาระรับตำแหน่งที่ University of Southampton นี่เองที่ Queen Elizabeth II ได้พระราชทาบบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินเป็น Sir Timothy John Berners-Lee นับแต่นั้น
Sir Timothy John Berners-Lee เกิดวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1955 ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ… และปัจจุบันยังเป็นเสาหลักของ WWW ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลก ยังสามารถชีวิตประจำวันที่ได้ดีแม้เดินทางไปมาหาสู่กันลำบาก
ส่วนความหลากหลายทางความคิดในปัจจุบัน ที่เห็นขัดแย้งมั่วซั่วทั้งที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต หรือ โลกออนไลน์ และ ในโลกภายนอกซึ่งยังหาที่ปัสสาวะได้จริงๆ อยู่นั้น… หลายความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากความหลากหลายทางความคิดเลย แต่เกิดจากความคิดที่ติดตรึงด้วยความเชื่อเก่า หรือ ความคุ้นชินเก่า หรือแม้แต่ความพยายามแบบเก่า ที่ไม่ได้สนใจจะพิจารณาว่าต้องเสีย “โอกาส” อะไรไปบ้าง จากชุดความคิดจากความเชื่อที่ขัดแย้งกับบริบทในโลกความจริงที่ “เปลี่ยนโดยธรรมชาติ” อยู่ตลอดเวลา… ความหลากหลายทางความคิดที่ทำลายโอกาส และ สร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ จึงไม่ถือว่าเป็นความหลากหลายทางความคิดที่สร้างสรรค์… และชัดเจนว่าไร้ประโยชน์ชัดเจน ถึงแม้จะเสนอแนวคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ยกเว้นเปลี่ยนแปลงจากภายในของคนหรือกลุ่มคนที่ผลิตชุดความคิดที่ไม่สร้างสรรค์… ประเด็นก็คือ ถ้าชุดความคิดนั้นไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เหมือนที่ Sir Timothy John Berners-Lee เปลี่ยนโลกใบนี้ด้วยชุดความคิดให้ทุกคนได้ประโยชน์จาก WWW ฟรีๆ และทุกคนได้ประโยชน์จากมันจริงๆ ในทุกเมื่อเชื่อวันของทุกคน… การอยากเปลี่ยนอะไรโดยไม่คิดจะเปลี่ยนอะไรจึงไร้ค่า และ สร้างแต่ความขัดแย้งที่ไร้โอกาสเสมอ
References…