ก่อนหน้านั้น… เทคโนโลยี VR หรือ Virtual Reality ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแต่ในวงการเกมคอมพิวเตอร์ และวิดีโอเกมเท่านั่นที่มีการใช้และทดสอบใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเทคโนโลยี VR แท้จริงแล้วก็คือเทคนิคการฉายภาพเสมือนจริงให้เห็น ซึ่งเป็นขั้นต่อมาของ “การนำเสนอให้เห็นภาพ” เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง
วงการก่อสร้างถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ต้องใช้ภาพสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อดำเนินการขั้นต่อไปด้วยการจำลอง “สิ่งที่กำลังจะก่อสร้าง” ให้เห็นภาพใกล้เคียงกับความจริงที่สุด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างก็ได้พัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือและอุปกรณ์มากมายมาช่วยพัฒนาภาพของสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะดำเนินการสร้างในอนาคต…
การเขียนแบบเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอภาพก่อนการสร้าง ที่มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ยุคใช้ไม้ทีกับฉากเขียนลงกระดาษไขบนโต๊ะเขียนแบบ มาจนถึงยุคของการใช้ซอฟท์แวร์ CAD หรือ Computer Aided Design เขียนกันบนคอมพิวเตอร์ จนมาถึงยุคการใช้ CG หรือ Computer Graphics… และเราก็มาถึงยุค VR หรือ Virtual Reality อย่างชัดเจนแล้วในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ในทางเทคนิค… VR สร้างภาพมาจากพื้นฐาน CAD และ BIM หรือ Building Information Modeling ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ออกแบบสิ่งก่อสร้าง ทั้ง CAD และ BIM ในปัจจุบันสามารถจำลองภาพขึ้นมาจากข้อมูลการออกแบบที่สัมพันธ์กัน ของทุกๆ มิติที่สร้างเป็นภาพขึ้นมาดูก่อนการตัดสินใจ… ซึ่งแต่เดิมภาพจำลองที่ได้ในมุมมองสามมิติ ก็สามารถที่จะเคลื่อนมุมมองและปรับหมุนดูภาพจำลองที่สร้างขึ้นนั้นได้อยู่แล้ว และเมื่อนำภาพจำลองนั้นมาใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี VR… ก็จะได้มุมมองเหมือนเราไปยืนมองด้วยตนเองอยู่ในภาพจำลองนั้น
อย่างที่เรียนไปในตอนต้นว่า… ทั้งหมดเป็นการสร้างภาพเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งก็คงไม่ได้มีแต่วการก่อสร้างที่จำเป็นต้องปรับมาใช้เทคโนโลยี VR เพื่อให้งานที่กำลังรอการตัดสินใจราบรื่นก้าวหน้าขึ้น… วันนี้จะพามาดูข้อสรุปและประโยชน์ที่ชัดเจนเมื่อมีการนำใช้เทคนิค VR ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
1. 3D Modeling and BIM Adaptation หรือ ใช้สร้างแบบจำลอง 3 มิติและปรับ BIM
ในทางเทคนิค… ช่างเขียนแบบหรือสถาปนิกและวิศวกร สามารถเก็บรายละเอียดในแบบแปลนได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่า ผ่านมุมมอง VR ที่จะเห็นภาพด้วยมุมมองและรายละเอียด เหมือนเดินดูสิ่งก่อสร้างที่กำลังออกแบบอยู่… ซึ่งนอกจากจะประหยัดเวลากว่าแล้ว ทุกคนที่มีส่วนในการตัดสินใจจะเห็นภาพเหมือนกันก่อนการตัดสินใจว่าจะยังไงต่อ
2. Collaborative Virtual Reality Experience หรือ ใช้เพื่อร่วมงานด้วยภาพและประสบการณ์เดียวกัน
ตั้งแต่ขั้นการออกแบบไปจนถึงการจ่ายและมอบหมายงานช่างก่อสร้าง… ภาพจาก VR จะเป็นสื่อประกอบการสื่อสาร บนความเข้าใจเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการก่อสร้างราบรื่นกว่าการใช้เส้นร่างแบบแปลนแบบ 2D หรือ มุมมองแบบ 3D ทั่วไปที่จำลองขึ้นบนจอที่สัดส่วนภาพที่เห็น ส่วนใหญ่ยังบิดงอผิดธรรมชาติ จนคนขาดประสบการณ์ไม่สามารถมองเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด
3. Remote Virtual Site Visits หรือ ใช้ตรวจงานก่อสร้างจากระยะไกล
เทคโนโลยีการบินโดรนติดกล้อง VR ถือว่าเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีการปรับใช้ในการตรวจงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง… ซึ่งเทคนิคการซ้อนภาพจาก BIM และภาพจริงจากพื้นที่ก่อสร้าง ช่วยประหยัดเวลาการตรวจและสั่งงานได้ดีกว่าการเดินตรวจมาก
ในสหรัฐอเมริกา… Layton Construction ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจออกแบบและก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่และศูนย์การแพทย์ในหลายมลรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา… ทีมออกแบบของ Layton Construction ใช้เทคโนโลยี VR จำลองอาคารสร้างใหม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้บริจาคและประชาชนทั่วไปสามารถเดินอยู่ในระบบนิเวศน์อาคารได้จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ
หลายฝ่ายจึงทำนายตรงกันว่า เทคโนโลยี VR จะเข้ามาในอุตสาหกรรมก่อสร้างก่อนสาขาอื่นๆ อย่างรวดเร็วนับจากนี้ ซึ่งผมก็ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ในประเด็นนี้เช่นกัน นอกจากจะบอกทุกท่านว่า… ต้องเพิ่มทักษะกันอย่างด่วนแล้วครับ
References…