เทคโนโลยีการขนส่งในอุโมงค์สุญญากาศความเร็วสูงอย่าง Virgin Hyperloop ได้ประสบความสำเร็จอีกขั้นกับการทดสอบนั่งโดยสารของทีมงานของ Virgin Hyperloop 2 คน โดยทดสอบกับทางวิ่งในอุโมงค์สุญญากาศยาว 500 เมตร ที่ความเร็วทดสอบ 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและใช้เวลาราว 15 วินาทีในการทดสอบ
Josh Giegel, CTO ของ Virgin Hyperloop และ Sara Luchian, Director of Passenger Experience หรือ ผู้อำนวยการฝ่ายประสบการณ์ลูกค้าของ Virgin Hyperloop คือผู้โดยสารคู่แรกที่ได้นั่งโดยสารในการทดสอบครั้งนี้ และถือเป็นชายหญิงคู่แรกของโลกที่ได้นั่งโดยสารใน Hyperloop Pod
การทดสอบมีขึ้นในเขตทะเลทรายนอกเมืองลาสเวกัส เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 พฤษจิกายน ปี 2020 ซึ่งผู้โดยสารทั้งสองต่างสวมเสื้อแขนยาวผ้าฟลีซและกางเกงยีนส์แบบธรรมดาในการทดสอบ… Sara Luchian ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว BBC ว่า… การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น และ ไม่รู้สึกเหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาเลย แม้ในช่วงการเร่งความเร็วจะรู้สึกถึงพลังมากมาย แต่ทั้งสองก็ไม่ได้รู้สึกไม่สบายหรือคลื่นไส้แต่อย่างใด
Hyperloop เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เวลาในการพัฒนามานานหลายปี โดยสร้างขึ้นจากแนวคิดของ Elon Musk ซึ่งได้เสนอแนวคิดระบบขนส่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยตั้งเป้าว่า จะพัฒนาระบบนี้ให้มีความเร็วสูงสุดที่ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางในอนาคต
Hyperloop มีแนวคิดมาจากรถไฟแม็กเลฟ หรือ Maglev ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างแรงยกตัวให้รถไฟวิ่งไปโดยที่ลอยอยู่เหนือรางแทนการใช้ล้อ จากนั้นใช้การเร่งความเร็วไปตามอุโมงค์สุญญากาศเพื่อทำให้ Hyperloop ทำความเร็วได้มากขึ้น
รถไฟแม็กเลฟของญี่ปุ่นได้สร้างสถิติโลก ด้วยการทำความเร็วสูงสุดราว 601 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการทดสอบวิ่งใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ เมื่อปี 2015
Virgin Hyperloop ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ในชื่อ Hyperloop One จากนั้นกลุ่มบริษัท Virgin ภายใต้การนำของ Sir Richard Branson ได้เข้าไปลงทุนในปี 2017… และ Moon Shot หรือความสำเร็จระดับการเยือนเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของ Virgin Hyperloop กับการทดสอบนั่งโดยสารจริงใน Hyperloop Pod… ถือเป็นก้าวสำคัญของการนำเทคโนโลยีการเดินทางด้วยเทคนิคนี้มาสู่มนุษยชาติ… อีกขั้น
อ้างอิง