คุณอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดูแลสายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา ได้พูดคุยกับสื่อมวลชนและเล่าถึงแผน 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2564–2568 ว่า… ได้มีการปรับยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่แข่งขันสูงมากในอาเซียน โดยปี 2564 เตรียมเงินลงทุนไว้ 1,200 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 800 ล้านบาท
เป้าหมายเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็น Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นการแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาค โดยใช้นวัตกรรมระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยีระบบ 5G เข้ามาช่วย
ส่วนเงินลงทุน 5 ปี ประมาณ 60,000 ล้านบาท จะมีโครงการใหญ่ๆ ที่จะเกิดด้วย เช่น ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ขณะนี้ใช้เงินไปแล้ว ประมาณ 40 ล้านบาท งบประมาณปี 2563… ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค ที่จะเปิดปี 2564 อีกประมาณ 800 ล้านบาท ลงทุนด้านดิจิทัล 200 ล้านบาท และจะพัฒนาบุคลากรอื่นๆ อีกที่เหลือ 200 ล้านบาท ส่วนนี้คืองบฯลงทุนปีหน้า 1,200 ล้านบาท
โดยมีเป้าหมายให้อยู่อันดับ Top 3 ของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอันดับ 1 คือ สิงคโปร์… อันดับ 2 มาเลเซีย… อันดับ 3 ไทยและเวียดนาม และยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างฟิลิปปินส์ ตามแผนดังกล่าว จะให้นำร่องนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด… นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง… นิคมอุตสาหกรรมบางปู… นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ภาพรวมของทิศทางการลงทุนนับจากนี้ ผู้ประกอบการจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี จะเห็นการเกิดขึ้นชัดเจนในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติ ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นศักยภาพของไทย ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้โอกาสนี้ลงทุนไทยเช่นกัน หลังจากเกิดปัญหาสงครามการค้าและการคว่ำบาตรจากสหรัฐ โดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยังคงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นที่สนใจเช่นเดิม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานพร้อม
ส่วนการรองรับนักลงทุนของไทย ภายใน 2 เดือนนี้จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 3 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน ขนาด 1,900 ไร่… นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก จังหวัดระยอง 650 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ 2,000 ไร่ ที่จะรับนักลงทุนในช่วงปลายปี 2563 นี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการจ้างงานถึง 60,000 คน และที่สำคัญ ยังเป็นนิคมที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หรือ new S-curve เป็นหลัก โดยนิคมต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่นี้จะสร้างมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องถึงหลักล้านล้านบาท
สำหรับโครงการรองรับแผนยุทธศาสตร์ภายใต้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 42 โครงการ 5 แผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย…
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์/บริการ/ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้องค์กร 12 โครงการ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน 13 โครงการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับระบบการกำกับดูแลองค์กรสู่มาตรฐานสากล 1 โครงการ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพขององค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 9 โครงการ และ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของลูกค้าและนักลงทุน 7 โครงการ กนอ.มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้บริบทของความยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใส