ความเสี่ยง หรือ Risk… ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นกลไกหลักในความกลัว ซึ่งเป็นพลังหลักของการตัดสินใจของมนุษย์คนหนึ่ง และนั่นแปลว่า… สมองของคนเราจะประเมินความเสี่ยงทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวแทบจะตลอดเวลา ซึ่งหลายกรณีในหลายๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น การประเมินความเสี่ยงเป็นกลไกทางประสาทวิทยาที่ทำงานอัตโนมัติ เหมือนมือโดนของร้อนก็จะกระตุกออกนั่นเอง
ตั้งแต่ปลายปี 2020 เป็นต้นมาจนเกือบหมดไตรมาสแรกของปี 2021 นี้… ถือเป็นปีที่มีปรากฏการณ์นักลงทุนหน้าใหม่ใสซิงในตลาดคริปโตเกิดขึ้นมากอย่างน่าสนใจ ถึงแม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นพัฒนาการของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีในประเทศได้เข้าสู่ระบบอย่างชัดเจน และผ่านช่วงบ่มเพาะทางธุรกิจมาระดับหนึ่ง… แต่จังหวะเวลาที่มาพร้อมกับราคาและเทคโนโลยีคริปโตเคอเรนซี ซึ่งได้เปลี่ยนผ่านและเติบโตทั้งมูลค่าและระบบนิเวศน์อย่างชัดเจน ได้ท้าทายจิตวิญญาณนักลงทุนที่เห็นโอกาสตรงหน้า แม้จะเป็นโอกาสที่ปนความเสี่ยงมาให้กลัวอย่างชัดเจน… แต่หลายคนก็เลือกจะหาวิธีเลิกกลัวด้วยการ “หาทางจัดการความเสี่ยง” และเดินหน้าสู่โลกของคริปโตเคอเรนซี… ไปลองด้วยตัวเอง
ความเสี่ยงในนามจิตวิญญาณนักลงทุน จึงควรได้รับโอกาสเพื่อพิสูจน์ความท้าทาย โดยไม่ถูกขัดขวางอย่างตื้นเขินจากบางทัศนคติ มากีดกันโอกาสการลงทุนในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและความรู้สำหรับพัฒนาสติปัญญามีแบ่งปันกันมากมาย
ผมกำลังพูดถึง กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกเอกสารเรื่อง การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้อง ผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งหลายท่านที่ติดตามงานเขียนของผมคงรู้ข่าวและเข้าใจประเด็นมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว
โดยส่วนตัวผมก็พอเข้าใจว่า… ในกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ใสซิงที่เข้าสู่ตลาดคริปโตนั้น บางส่วนยังไม่มีประสบการณ์และความรู้ใดๆ เลย แต่ก็กล้าพอจะไปเรียนรู้เอาข้างหน้าและตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว… ผมเองก็เคยเห็นโพสต์คำถามวังเวงของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่ยังงงๆ กับเรื่องโอนเงินเข้าออกระหว่างบัญชีเทรดกับบัญชีธนาคาร ไปจนถึงติติงด่าทอแพลตฟอร์ม ทั้งที่ตัวเองยังแยกไม่ออกว่า อันไหน Wallet อันไหน Trade… แต่นั่นคือหนึ่งคนในหลายหมื่นคน ซึ่งคนหลายหมื่นคนไม่ควรโดนบังคับใช้มาตรฐานในระดับ “คนไม่รู้อะไรเลย” จนทำให้ตลาดทุนดิจิทัลและนักลงทุนที่ ก.ล.ต. ควรจะส่งเสริมและพัฒนาให้ทุกฝ่ายในระบบนิเวศน์นี้เข้มแข็งเติบโตมากกว่า หายไปจากระบบนิเวศน์ที่ควรจะคึกคักและท้าทาย… แม้คนส่วนน้อยที่เงอะงะเดียงสาเอง นานวันเข้าก็คงได้เรียนรู้และเข้าใจได้เองในอีกไม่ช้า
Aaron Patzer ผู้ก่อตั้ง หรือ Founder ของ Mint.com เคยกล่าวไว้ว่า… Turn A Perceived Risk Into An Asset. จงเปิดรับความเสี่ยงเพื่อแปลงมันเป็นสินทรัพย์… ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้ “นักลงทุนหน้าใหม่” กลายเป็นนักลงทุนที่ค้ำจุนตลาดทุนไปจนกว่าเจ้าตัวจะเลิกลา
Mint.com เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ Free Credit Score ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการความเสี่ยงสมัยใหม่อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า… ความเสี่ยงเป็นวิทยาศาสตร์และตรรกะที่สามารถจัดการได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ “โอกาส” สำหรับคนที่รู้ดีว่าจะเอาเครดิตไปทำประโยชน์ได้อย่างไร… แน่นอนหล่ะว่า ทั้งหมดไม่ใช่ทุกคนที่ “สบโอกาส” แล้วจะ “ใช้โอกาสเป็น”
แต่เราควรเอามาตรฐาน “คนใช้โอกาสไม่เป็น” มาใช้กับทุกคนเพื่อปกป้องคนใช้โอกาสไม่เป็น ไม่กี่คนหรือเพียงส่วนหนึ่ง… โดย “ทำลายโอกาส” ของคนที่สบและใช้โอกาสไปสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มเป็นอย่างนั้นหรือ?
ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา… เสียงบ่นกรณี ก.ล.ต. อยากกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ต่างก็แสดงความเห็นเชิง “ดูแคลนวิสัยทัศน์” ในกรณีนี้มากกว่าจะเข้าใจความหวังดีของ ก.ล.ต. ครับ
ด้วยความเคารพครับ!