แนวคิดการเดินทางๆ บก หรือการเดินทางๆ ถนนถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักมาตั้งแต่ยุคโบราณ และมีพัฒนาการคู่มากับสังคมมนุษยชาติ ตั้งแต่การใช้ทางเท้าโดยช่องทางธรรมชาติ จนถึงการตัดถนนและสร้างทางด้วยวัสดุก่อสร้างชั้นดี เพื่อให้ยานพาหนะสมรรถนะสูง สามารถใช้ทางได้ด้วยความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นก็คือ เส้นทางๆ ถนนในปัจจุบันที่เป็นถนนเปิด กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ต้องจำกัดความเร็วของยานพาหนะที่สามารถทำความเร็วได้สูง ลงจากความเป็นจริงมาก แม้จะเป็นเส้นทางพิเศษเพื่อให้ใช้ยานพหนะที่ความเร็วสูงเป็นพิเศษได้ก็ตาม… แนวคิดในการออกแบบถนนเพื่อทำความเร็วการเดินทางให้สูงขึ้น จึงมาถึงการประยุกต์ใช้แนวคิด “ถนนปิด” หรือการใช้อุโมงค์อย่างกว้างขวาง
การทำอุโมงค์เป็นเส้นทางสัญจรไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่มีใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในกรุงลอนดอน โดยโครงการก่อสร้างรถไฟใต้ดินสาย Metropolitan Line ซึ่งเปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม ปี 1863… ภายใต้แนวคิดการสร้างอุโมงค์ให้รถไฟสัญจรที่ริเริ่มกันมาตั้งแต่ ปี 1830 นั้น… ถือว่าเป็นแนวคิดหลุดโลกซึ่งท้าทายความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อย่างมาก… ผู้ที่ริเริ่มและผลักดันจนได้ชื่อว่าเป็นบิดาของกิจการรถไฟใต้ดินก็คือ อัยการพิเศษประจำเทศบาลกรุงลอนดอนในสมัยนั้นชื่อ Charles Pearson… และเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ ปี 1854 จนสามารถเดินรถได้ในปี 1863 ระหว่างสถานี Paddington และสถานี Farringdon
ประเด็นก็คือ… การก่อสร้างในยุคนั้นใช้วิธีเปิดหน้าดินก่อสร้างอุโมงค์จนเสร็จก่อนจะกลบทีหลัง
ในปัจจุบัน… การสร้างอุโมงค์มีเทคโนโลยีช่วยงานก่อสร้างจนไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้างอีกแล้ว โดยเฉพาะการใช้หัวเจาะ TBM หรือ Tunnel Boring Machine ซึ่งก้าวหน้าถึงขั้นสามารถเจาะอุโมงค์เข้ามาจากปลายทั้งสองด้าน เพื่อจบงานเจาะอุโมงค์ที่จุดนัดพบกลางทางอย่างแม่นยำ สามารถร่นเวลาการก่อสร้างได้เป็นเท่าตัว… นอกจากนั้น เทคโนโลยีการจัดการภายในอุโมงค์ระหว่างใช้งาน ตั้งแต่รับมือกับความแปรปรวนของชั้นดินตลอดแนวอุโมงค์ ไปจนถึงอุบัติภัยทุกรูปแบบที่มีการประเมินและตรวจสอบวางแผนรับมืออย่างดี
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ… แนวคิดการใช้อุโมงค์ไม่ได้จำกัดอยู่กับยานพาหนะชนิดรางอีกแล้ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์เดินรถลอดใต้ทะเลเกิดขึ้นอีกหลายโครงการทั่วโลก นับตั้งแต่โครงการ The Channel Tunnel หรือโครงการอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ เชื่อมเกาะอังกฤษกับฝรั่งเศษ ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1802 ก่อนอุโมงค์รถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอนกว่า 50 ปี โดยมีการเสนอของบประมาณในยุคจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศษ ราวปี 1856 ด้วยตัวเลขงบประมาณ 170 ล้านฟรังก์ฝรั่งเศษ โดยมี William Ewart Gladstone เป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในคราวนั้น… แต่ปัญหามากมายก็ทำให้การก่อสร้างไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกระทั่ง ปี 1981 สมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ หรือ Margaret Thatcher แห่งสหราชอาณาจักร กับประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง หรือ François Mitterrand ของฝรั่งเศษ… ได้ร่วมลงนามและก่อสร้างจนกระทั่งวันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1994 จึงได้เปิดใช้อุโมงค์ และเปิดการเดินรถเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1994 ใช้งบประมาณไป 4,650 ล้านปอนด์… บานปลายเกินงบไปกว่า 80% ทีเดียว
แต่แนวคิดการใช้อุโมงค์เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง ก็ถูกยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นไปได้ แม้จะเป็นการก่อสร้างใต้ท้องทะเล จนทำให้โครงการก่อสร้างเส้นทางข้ามอ่าวหลายแห่งทั่วโลกถูกริเริ่มขึ้น… กรณีอุโมงค์ลอดอ่าวโตเกียวยาวกว่า 15 กิโลเมตรบนเส้นทาง Tokyobay Aqua-Line Umihotaru หรือ 東京湾アクアライン, 海ほたる… รวมทั้งโครงการสารพัดอุโมงค์นับไม่ไหวในประเทศจีน ทั้งลอดอ่าว ลอดแม่น้ำและลอดภูเขาที่เคยเป็นอุปสรรคการเดินทางอันยากลำบากแต่เดิม
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ… เทคโนโลยีการออกแบบอุโมงค์เดินรถส่วนบุคคลของบริษัท The Boring Company ที่มีหัวเรือใหญ่แปะชื่อ Elon Musk ซึ่งโฟกัสโครงข่ายอุโมงค์ขนาดสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เน้นการเดินทางความเร็วสูงด้วยความปลอดภัย 99%… รวมทั้งการเดินรถในอุโมงค์ภายใต้แนวคิด Hyperloop ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อการเดินทางข้ามขีดจำกัดอีกขั้นของมนุษย์ นับตั้งแต่เลิกนั่งเกวียนและลงจากหลังม้ามาขึ้นรถสารพัดแบบที่เร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตายเพราะความเร็วไปมากมายทั่วโลก…
ที่สำคัญ ความก้าวหน้าของแนวคิดการพัฒนาอุโมงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเส้นทางอัจฉริยะ ให้สามารถแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนดัวยข้อมูลผ่านโครงข่าย IoT ระหว่างใช้ทางให้เป็นการเดินทางอย่างแม่นยำ โดยไม่มีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติตั้งแต่แสงแดดสายลมเม็ดฝนและอะไรอีกมาก… ซึ่งเมื่อใส่ทุกอย่างไว้ในอุโมงค์หรือถนนปิด… หลายปัจจัยที่เคยควบคุมยากก็จะง่ายเข้าอีกมากทีเดียว
ที่ผมอยากพูดถึงอีกหนึ่งประเด็นก็คือ… ประเทศไทยมีวิศวกรที่สามารถออกแบบ คุมงานก่อสร้างและทำงานซ่อมบำรุงอุโมงค์โดยไม่พึ่งวิศวกรต่างประเทศเพียงพอหรือยังน๊ะ?… รวมทั้งหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและทุกวิศวกรรมที่มีการเรียนการสอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน ไปจนถึงหลักสูตรทางธรณีวิทยาและการเรียนการสอนหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง?… ผมไม่ทราบว่าบทความตอนนี้จะเฉียดใกล้ สายตาอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง… ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือไม่? ขออภัยที่พาดพิงเอ่ยชื่อท่านโดยวิสาสะ… แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมคนหนึ่งเชียร์แนวคิดการเอาอุโมงค์มาวางผังเมืองของท่านด้วยหนึ่งเสียงครับ และเชื่อว่าอาจารย์คงกำลังหาทางเพิ่มเฟืองแกร่งๆ ด้านวิศวกรรมอุโมงค์เหมือนท่านอยู่เหมือนกัน
References…
- https://www.scimath.org/article-science/item/1278-a-subway-tunnel
- http://www.mckeller.co.th/knowledge-and-experience/tokyo-bay
- https://dttgeology.wordpress.com/เรื่องน่ารู้/เทคนิคการก่อสร้างอุโมง
- https://www.geothai.net/tunnel-geologist
- http://en-visign.com/uploads/file_20180830140227.pdf
- https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Pearson
- https://new.siemens.com/global/en/products/automation/products-for-specific-requirements/tunnel-automation.html
- Featured Image source: siemens.com | Digital Tunnel