เวบข่าวผู้จัดการออนไลน์ได้รายงานข่าวกรณีของคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ให้ข้อมูลการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน เนื้อที่รวม 2,325 ไร่ โดยมี “บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาแล้ว โดยประเมินว่า… ภายในปี พ.ศ. 2566 นี้จะสรุปผลการศึกษาแนวคิดรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่ 2 แปลงแรก คือ แปลง A ขนาดเนื้อที่ 32 ไร่ และ พื้นที่แปลง E เนื้อที่ประมาณ 140 ไร่ และ สามารถออกมานำร่องพัฒนาได้ก่อน
ส่วนแปลงอื่นๆ จะทยอยศึกษาและนำออกพัฒนาต่อไป ซึ่งจากที่ได้เดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าภาคเอกชนประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการเข้ามาพัฒนาอย่างมาก เบื้องต้นมีประมาณ 18 บริษัท เนื่องจากมีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยในด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว โดยกำลังรอให้ผลศึกษาที่ทำร่วมกับองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น หรือ Urban Renaissance Agency หรือ UR ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น แต่ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 40 ปี… ในขณะที่ประเทศไทยยังถือว่ากำลังจะเริ่มนับหนึ่ง
ด้านคุณไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า… พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งอยู่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้มีการศึกษาวางผังแม่บท หรือ Master Plan การพัฒนา โดยจะนำร่องแปลง A และ แปลง E ก่อน… ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษา คาดว่าจะสรุปผลศึกษาได้กลางปี 2566 และ นำเสนอบอร์ด SRTA จากนั้นจะทำเรื่องขอเช่าพื้นที่ต่อจาก รฟท. ตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี พ.ศ. 2567
สำหรับพื้นที่แปลง A ขนาดเนื้อที่ 32 ไร่ จะมีการปรับแนวคิดการพัฒนาใหม่ให้เหมาะสมและจูงใจมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ รฟท. ได้เปิดประมูล 2 ครั้งแต่ไม่มีเอกชนสนใจ โดยนำมาพัฒนาเป็นสำนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และ ด้านล่างจะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้…. ส่วนพื้นที่แปลง E เนื้อที่ประมาณ 140 ไร่ และ เป็นทำเลมีศักยภาพ จะเน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ จะมีที่ทำการกระทรวงคมนาคมรวมอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงในการกำหนดรูปแบบร่วมกัน
“ภายในกลางปี 2566 แนวคิดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แปลง A และแปลง E จะเห็นภาพชัดเจน รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะทบทวนการศึกษา รูปแบบ การพัฒนา แล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดประมูลได้ในปี 2567” นางสาวไตรทิพย์กล่าว
ส่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้ SRTA รับบริหารทรัพย์สินต่างๆ นั้น… ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมลงนามสัญญาจ้าง ซึ่งจะมีทั้งสัญญาเช่าพื้นที่ของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน สัญญาเช่าของฝ่ายเดินรถ รวม 7,000-8,000 สัญญา
คุณไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า… หาก รฟท. สามารถส่งต่อการดำเนินงานให้ SRTA ได้เร็ว… SRTA จะสามารถนำที่ดินนั้นๆ ไปพัฒนาได้เร็วและสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท. ได้เร็วด้วยเช่นกัน โดยที่ดินแปลงใหญ่นั้นจะมีการศึกษา ประเมินมูลค่าวงเงินลงทุน ซึ่งจะขึ้นกับศักยภาพและปัจจัยที่แตกต่างกันไปของที่ดินแต่ละแปลง ส่วนรายได้ที่ รฟท. จะได้รับเป็นส่วนของผลตอบแทนในการลงทุนที่จะประเมินตลอดอายุสัญญา หลักๆ จะอยู่ประมาณ 30% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายปี ดังนั้น หากเปิดประมูลได้เร็ว รฟท. จะรับรู้รายได้เร็วตามไปด้วย
References…