คำกล่าวถากถางที่ว่า… คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ซึ่งสะท้อนหลายอย่างผ่านคำกล่าวนี้มานาน โดยเฉพาะเงื่อนไขการเปิดพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นสมัยก่อน ที่กำหนดวงเงินขั้นต่ำไว้หลักแสน หรือ อย่างน้อยก็ต้องมีหลักหมื่นสำหรับพอร์ตเงินสด ซึ่งมักจะมีคนเปิดพอร์ตเงินสดขั้นต่ำตามข้อกำหนดเสมอ โดยเฉพาะ “มือใหม่” ซึ่งเกือบทั้งหมดจะจบลงด้วยการปิดบัญชี และ เลิกคิดเรื่องหุ้นในอีกไม่กี่เดือนต่อมา… ส่วนวงเงินขั้นต่ำในการเล่นหวย ก็อย่างที่ทราบๆ กันว่า ขั้นต่ำนั้นต่ำมากจนเรียกว่าไม่มีขั้นต่ำก็มีสิทธิ์ได้ลุ้น ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่คนรายได้น้อยหรอกครับที่เล่นหวย… สมัยที่ต้องนั่งห้องค้าเล่นหุ้น ผมเจอเจ้าของพอร์ตหุ้นหลายสิบล้านโทรซื้อหวยกันงวดละเป็นแสนประจำ
เมื่อวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ และ อินเตอร์เน็ตนำกระดานหุ้น กับ ห้องค้ามาไว้ในมือของทุกคน โดยมีหลักทรัพย์ และ เครื่องมือการลงทุนสารพัดเท่าที่โลกใบนี้จะมีคนอยากซื้ออยากขาย และ อยากเก็งกำไร… ซึ่งทั้งหมดถูกเสนอเป็นทางเลือกให้ “นักนิยมกำไรจากความเสี่ยง” ได้ใช้ทักษะความรู้ หรือ แม้แต่ดวงตกฟาก หรือแม้แต่ขาข้างที่ให้โชคก้าวออกจากบ้านก่อน… ได้เรียนรู้ ได้ทดสอบ และ ได้สร้างทำอนาคตของตัวเองบนระบบนิเวศน์การลงทุนยุคอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ลงเกือบทั้งหมด… ถึงขั้นเงินสิบบาทร้อยบาทก็ลงทุนในตลาดคริปโตได้แล้ว
ประเด็นก็คือ… ใครๆ ก็เข้าตลาดทุน และ เป็นนักลงทุนได้ทั้งหุ้น ทอง คริปโต ฟอเร็กซ์ และ ตลาดโภคภัณฑ์ ทำให้คำถากถางเรื่องจนเล่นหวยรวยเล่นหุ้น กลายเป็นสำนวนหมดอายุจนเหลืองเพียง ทักษะและรสนิยมในการลงทุนที่ต่างกันมากกว่า เพราะหลายคนเล่นหวยหรือซื้อสลากกินแบ่งแต่ละรอบ หมดเปลืองสูงกว่าพอร์ตลงทุนหุ้นกองทุนของรายย่อยบางบัญชีหลายเท่า… รายย่อย และ มือใหม่ในตลาดทุนในปัจจุบันจึงมีจำนวนมาก อ่อนไหวและเปราะบาง… และต้องช่วยตัวเองล้วนๆ
ที่สำคัญกว่านั้น… ฝ่ายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักลงทุนมืออาชีพ และ นักลงทุนรายใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่เตือน หรือ กำกับดูแลแบบสั่งห้ามโน่นห้ามนี่แล้ว… นอกนั้นก็หาทางเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรายย่อยสารพัดรูปแบบมากกว่า… ร่ำรวยรอดมาได้ก็ดีใจด้วย ถอยจากไปก็ชื่นชมให้กำลังใจกันไป… ซึ่งก็ถูกต้องตามนั้น เพราะการลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะกระดานเทรดไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่ว่าจะลงทุนเป็นอาชีพหลักแบบ Fulltime Trader… หรือจะเป็นนักเทรดสมัครเล่นแบบ Part Time Trader… ถ้ากำไรก็ได้เงินจริงๆ และถ้าขาดทุนก็หมดเงินจริงๆ ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า “ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะไปต่อ หรือ พอได้แล้ว”
การเป็นนักลงทุนที่ต้องอยู่กับการตัดสินใจเกี่ยวกับ “เงินของตัวเอง” และ ยังต้องหาข้อมูลความรู้มาสนับสนุนการตัดสินใจที่เกี่ยวพันกับ “เงินของตัวเอง” ตลอดเวลา… ความเครียด ความกดดัน ความผิดหวัง ความเสียดาย ความเศร้า และ อีกสารพัดความรู้สึก จึงติดตรึงแช่ค้างอยู่ในสมองตลอดเวลาไปด้วย จนหลายคนไม่สามารถอยู่ “เป็นนักลงทุน” ต่อไปได้… ซึ่งคนที่ถอยออกจากตลาดทั้งหมด ส่วนใหญ่ “ไม่ได้หมดเงิน” ลงทุน… เพียงแต่เสียหายมากน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกคนที่ถอยออกจากตลาด ล้วน “หมดความหวัง” เหมือนๆ กันหมด… ซึ่งเป็นเรื่องจิตวิทยาส่วนบุคคลจากประสบการณ์การลงทุนอันบอบช้ำมากกว่า
ย้อนกลับไปกลางศตวรรษที่ 18 ยุคสมัยที่ญี่ปุนถูกปกครองโดย Tokugawa Shogunate หรือ 徳川幕府 หรือ โชกุนโทกูงาวะ ซึ่งสืบทอดการปกครองยุค Edo หรือ Tokyo ภายใต้พระราชอำนาจแห่งองค์จักรพรรดิ์… ญี่ปุ่นได้ก่อตั้งตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ Futures Contract Market หรือ Futures Market สินค้าเกษตรขึ้น โดยเฉพาะสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า… เติมเต็มกลไกการค้าข้าวแบบดั้งเดิม หรือ แบบส่งมอบ หรือ Spot Market และเปิดตลาดในปี 1710… โดยใช้ระบบซื้อขายคูปอง หรือ ตั๋ว เป็นสัญญาส่งมอบข้าวในอนาคตที่กำหนดวันเวลาไว้บนคูปอง
ต่อมาไม่นานจึงเกิด ตลาดรอง หรือ Secondary Market หรือ ตลาดเทรด เพื่อซื้อขายตั๋วข้าว หรือ Rice Futures จนกลายเป็นตลาดเทรดสัญญาส่งมอบข้าวขึ้น โดยมีพ่อค้าข้าวจากตระกูล Homma ชื่อ Munehisa หรือ Homma Munehisa หรือ 本間 宗久 จากเมือง Sakata เข้ามาค้า Rice Futures พร้อมเครือข่ายคนนำสาร หรือ ม้าเร็วที่วางไว้ทุก 6 กิโลเมตรจาก Sakata ถึง Osaka ด้วยระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร เพื่อรับส่งคำสั่งซื้อขาย และ ข่าวให้เร็วที่สุด… จนกลายเป็นตำนานนักลงทุน ผู้ถูกยกย่องไปทั่วโลก และ เล่าขานสืบทอดความสำเร็จในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีตำราการลงทุน และ เครื่องมือสำหรับนักลงทุน อย่าง “กราฟแท่งเทียน และ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค” อ้างอิงจิตวิทยาการลงทุน และ สภาวะของตลาดเอาไว้เป็นมรดกให้โลกของการลงทุนมาจนถึงทุกวันนี้… ซึ่งมรดกที่แท้จริงจากท่านฮอมมะก็คือ เครื่องมือช่วยการตัดสินใจเกี่ยวกับ “เงินของตัวเอง” ที่ลงไปกับตลาดทุนเพื่อผลตอบแทนนั่นเอง
ปี 1755… Homma Munehisa หรือ ท่านฮอมมะ ได้เขียนหนังสือชื่อ San-en Kinsen Hiroku หรือ 三猿金泉秘録 หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Three Wise Monkeys Money Secret แปลเป็นภาษาไทยว่า… ความลับทางการเงินของลิงฉลาดทั้งสาม ซึ่งปรมาจารย์ด้านการลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่ ยกย่องให้เป็นตำราจิตวิทยาการลงทุนเล่มแรกของโลก…
ว่ากันว่า… เนื้อหาในเล่มพูดถึงความสำคัญของจิตวิทยาตลาด กับ ความสำเร็จในการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า หรือ Futures… และเน้นย้ำเรื่องอารมณ์ของผู้ค้า หรือ Traders ว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อความเคลื่อนไหวของราคาข้าว การสังเกตุอารมณ์ตลาด หรือ ความรู้สึกของนักเทรดส่วนใหญ่ในตลาด จึงเป็นเครื่องมือเดียวในการ “รับมือกับทุกสภาวะตลาด” ไม่ว่าราคาจะแกว่งขึ้นสูง หรือ ไหลลงต่ำ… โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในตำราโดยความในภาษาอังกฤษว่า When all are bearish, There is cause for prices to rise. หรือ เมื่อทั้งมวลซบเซา ล้วนคือเหตุแห่งราคาจะกลับพุ่งขึ้น… หรือ ก็คือคำอธิบายเรื่อง “วัฏจักรราคา” ซึ่งท่านฮอมมะเรียกภาวะตลาดซบเซา หรือ Bearish Market ว่า หยิน และเรียก ตลาดฟื้นตัว หรือ Bullish Market ว่า หยาง… โดยมองผ่านข้อมูลภาวะตลาดซึ่งยืนยันภาวะด้วย Market Volume หรือ ปริมาณการซื้อขาย… เพื่อกำหนดจังหวะการเปิด–ปิดออเดอร์ หรือ Price Action
นักลงทุนส่วนใหญ่พูดถึงท่านฮอมมะ หรือ Homma Munehisa ในฐานะผู้คิดค้นกราฟแท่งเทียน หรือ บิดากราฟแท่งเทียน และ มักจะเกริ่นนำถึงที่มาที่ไป “เฉพาะความเคลื่อนไหวเรื่องราคาในคาบเวลาหนึ่งของแท่งเทียนแต่ละแท่ง” และ เรียนสอนกันเพียงมุมมองทาง Pricing Logic หรือ ตรรกะของราคา เพื่อใช้ตัดสินใจตอบสนองต่อราคา หรือทำ Price Action… ซึ่งการวิเคราะห์เพียงพิจารณาข้อมูลราคาส่วนเดียว โดยไม่รวม “ข้อมูลอารมณ์ตลาด หรือ ความรู้สึกของนักเทรดส่วนใหญ่ในตลาด” อันเป็นข้อมูลจิตวิทยาที่จำเป็น ซึ่งแท่งเทียนบอกได้แต่ช่วงราคา แต่ไม่สามารถบอกปริมาณการซื้อขาย หรือ Market Volume เอาไว้ให้… จึงเป็นการละเลยข้อมูลสำหรับ ความรู้สึกส่วนตัวของนักลงทุนเอง หรือ เป็นการทิ้งเหตุผลในการ “ถือ หรือ ทิ้ง หลักทรัพย์” ที่ลงทุน หรือ อยากลงทุนไปครึ่งหนึ่ง จนหวั่นไหวไปกับการแกว่งตัวของราคา อันเป็นธรรมชาติของตลาดซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนทุกแบบ
ท่านฮอมมะเองจึงย้ำเรื่องจิตวิทยาการลงทุนเอาไว้ในคำคม ซึ่งตกทอดบอกต่ออ้างกันมาว่า… The Psychological Aspect Of The Market Is Critical To Trading Success หรือ มุมมองทางจิตวิทยาต่อตลาด มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการซื้อขาย
การอ่านแท่งเทียนที่มีเพียงราคาเปิด หรือ Open Price กับ ราคาปิด หรือ Close Price ที่ปรากฏในส่วนเนื้อเทียน หรือ Real Body… กับดูราคาต่ำสุด หรือ Low Price กับ ราคาสูงสุด หรือ High Price ที่ปรากฏเป็นไส้เทียน บนกรอบเวลา หรือ Time Frame หนึ่งๆ ในหนึ่งแท่งเทียนในแบบของท่านฮอมมะ จึงควรต้องอ่านให้ทะลุ “อารมณ์ตลาด” ที่ปรากฏบนแท่งเทียนราคา… ซึ่งต้องตรวจสอบเพิ่มเติมจาก “ปริมาณการซื้อขาย หรือ Market Volume” และต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของ “ทิศทาง และ แนวโน้มราคา กับ ปริมาณการซื้อขาย” อย่างชัดเจนไปด้วยกัน
ซึ่งทั้งหมด… จะเจาะมาวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ ซื้อ หรือ Buy หรือ Long เมื่อพบสัญญาณราคาในทิศทางเพิ่มขึ้น… และ ขาย หรือ Sell หรือ Shot เพื่อขายออก และย้ายมูลค่าสินทรัพย์ไปเก็บไว้เป็นเงินสดก่อน… และรอรอบสัญญาณให้ซื้อรอบถัดไป ที่จะมาถึงในลำดับที่ “แรงขาย” หมดพลังลง… ซึ่งจิตวิทยาการลงทุนจะมีอิทธิพลกับนักลงทุนตลอดของการรอ… ทั้งรอซื้อ และ รอขาย… โดยเกิดขึ้นวันละ 24 ชั่วโมงต่อเนื่องไปทุกวันจนปิดพอร์ตลงทุน
ข่าวดีก็คือ… จิตวิทยานักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ… เรียนรู้ได้ ฝึกฝนกันได้!… ส่วนข่าวร้ายคือ… การฝึกจิตวิทยา “เพื่อเป็น” นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะเหมือนการฝึกสมาธิคือ… ทุกคนเริ่มฝึกได้ไม่ยากเหมือนกันหมด แต่จะบรรลุขั้นไหนได้อย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งถ้าหวังจะเรียน หรือ ฝึกให้บรรลุนิพพานด้วยแล้ว… กล่อมจิตตัวเองให้ไปทำมาหากินทางอื่นน่าจะหวังได้มากกว่า
แต่ถ้าท่านมั่นใจว่าเกิดมาเพื่อเป็น Trader… และความสำเร็จท้าทายจนความล้มเหลว และ การขาดทุนเป็นเรื่องเล็กที่เชื่อว่าตัวเองจัดการได้… ก็ยินดีต้อนรับสู่โลกของการเทรดลงทุนครับ!
References…