The Only Way To Discover The Limits Of The Possible Is To Go Beyond Them Into The Impossible – Sir Arthur C. Clarke

Sir Arthur Charles Clarke

นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่… คำยกย่องนี้ไม่ได้เกินเลยสำหรับนาม Sir Arthur Charles Clarke หรือ Arthur C. Clarke และในบรรดานักเขียนไซไฟหรือเรื่องเล่าล้ำหน้าอิงวิทยาศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยกย่อง… นาม Arthur C. Clarke ก็มักจะอยู่ในอันดับแรก หรืออย่างน้อยก็อันดับแรกๆ เช่นกัน

Sir Arthur Charles Clarke

นิยายชุดจอมจักรวาล ซึ่งแปลจากต้นฉบับชุด Space Odyssey ซึ่งประกอบไปด้วย 2001 A Space Odyssey… 2010 Odyssey Two… 2061 Odyssey Three… และ 3001 The Final Odyssey ถือเป็นผลงานที่มีคนอ่านและกล่าวถึงมากมายทั่วโลก

ส่วนตัวแล้วผมรู้จักและได้จับ 2001 A Space Odyssey “มาลองอ่าน” ก็อยู่ในช่วงวัยเลยยี่สิบมาแล้ว และหาอ่านเพราะดันไปนั่งอยู่ในวงสนทนาที่มีผมคนเดียวไม่เคยอ่าน 2001 A Space Odyssey แถมไม่รู้จัก Arthur C. Clarke อีกต่างหาก… ผมแวะไปยืมหนังสือจากห้องสมุดเช้าวันรุ่งขึ้น จำได้ว่าไม่มีหนังสือเหลือให้ยืม ต้องรอคิวอยู่เกือบเดือนจึงได้เห็นหนังสือที่บรรณารักษ์นัดไปรับ… และผมอ่านเพียงไม่กี่หน้าก็วางและเอาหนังสือกลับไปคืนห้องสมุด เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งจากทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ ที่พอเข้าใจแค่อ่านคำถามในข้อสอบ… เมื่อมาเจอนิยายที่ศัพท์แสงส่วนหนึ่งยังต้องแปลอังกฤษเป็นฝรั่งก่อนด้วยแบบนั้น… แค่อ่านให้เดาไม่หลงทิศก็ยากแล้ว

ผมหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาหาเล่มแปลไทยอ่านเหมือนกัน แต่หนังสือไม่ได้หาง่ายเลยในเมืองไทย จนถึงป่านนี้ผมจึงยังไม่เคยอ่านนิยายชุด Space Odyssey แปลไทยแม้แต่เล่มเดียว… แต่ผมจำชื่อ Arthur C. Clarke ได้แม่นยำตั้งแต่นั้นมา

โดยส่วนตัวผมสนใจศึกษาวิทยาศาสตร์และอวกาศ ซึ่งหมดเงินและเวลากับการ Update ข่าวสารอย่างต่อเนื่องมานาน แต่ความที่ได้เริ่มเสาะแสวงตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้จะมีหลายอย่างที่พอรู้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ “รู้ลึกซึ้ง” ถึงขั้นที่จะนำสิ่งที่รู้ผิวเผินไปบอกเล่าถ่ายทอดต่อ หรือนำไปประยุกต์ใช้ทำอะไรได้…

แต่บ่อยครั้งที่การ Update ความรู้ด้านอวกาศและดาราศาสตร์… ชื่อของ Arthur C. Clarke ก็จะโผล่มาให้เห็นผ่านตาและได้เรียนรู้แง่มุมต่างๆ ที่ผู้รู้แทรกไว้ให้เสมอ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดบอกเหมือนกันว่า… นวนิยายของ Arthur C. Clarke มีความริเริ่มสร้างสรรค์เกี่ยวกับ “ความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์” ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบัน… เอกสารมากมายอ้างอิงและกล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์จำนวนมากได้แรงบันดาลใจจากนิยายของ Arthur C. Clarke ทั้งดาวเทียม สถานีอวกาศ ลิฟท์อวกาศ ระบบสร้างและจำลองแรงโน้มถ่วง รวมทั้งการอพยพและสำรวจดวงดาว

โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการยกย่องจินตนาการของ Arthur C. Clarke แม้หลายอย่างเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่มีแต่ในนิยาย แต่เรื่องเหลือเชื่อในนิยายของ Arthur C. Clarke กลับเป็นจริงได้มากมายในเวลาต่อมา แถมสิ่งประดิษฐ์มากมาย เจ้าตัวยังได้สัมผัสและเห็นการเกิดขึ้นและมีอยู่จริงของจินตนาการด้วยตัวเอง… กรณีดาวเทียมและสถานีอวกาศในวงโครจรค้างฟ้าแค่เรื่องเดียว ก็สามารถยกย่องคนที่ชี้ทางให้คนอื่นทำไปตลอดกาลได้แล้ว

นวนิยายเรื่องแรกของ Arthur C. Clarke ตีพิมพ์ในปี 1951 ชื่อ Prelude to Space และต่อด้วย The Sands of Mars ในปีเดียวกัน และมีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่อง รวม 21 เล่ม 21 เรื่อง จนถึงปี 1988 ก่อนจะมีงานตีพิมพ์ร่วมกับนักเขียนคนอื่นต่อเนื่องจนถึงปี 2008 รวมงานเขียนที่เป็นนวนิยายมากถึง 34 เรื่องทีเดียว… นอกจากนั้นยังมีเรื่องสั้นทั้งพิมพ์เดี่ยวและรวมเล่มมากกว่า 20 เล่ม… แถมยังเคยมีสารคดีทางทีวีอีกด้วย

Arthur C. Clarke เกิดวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1917 ในครอบครัวเกษตรกรชาวอังกฤษ ที่เมือง Minehead ในเขต Somerset ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ… ในวัยเด็ก Arthur C. Clarke ชอบดูดาวและอ่านวารสารนิยายไซไฟและวิทยาศาสตร์ของอเมริกา ซึ่งจุดประกายความสนใจและกระตือรือร้นในวิทยาศาสตร์และอวกาศไปตลอดชีวิต

ปี 1936… Arthur C. Clarke ย้ายไปลอนดอนเพื่อไลล่าความฝัน จนได้ทำงานที่ British Interplanetary Society หรือ BIS ซึ่งเป็นองค์กรด้านอวกาศเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1933 มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขต Vauxhall ทางตอนใต้ของ London… Arthur C. Clarke ยังได้ดูแลงานด้าน Astronautic Material หรือวัตถุอวกาศ และได้ช่วยงาน BIS Bulletin ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของ BIS และเริ่มเขียนนวนิยายในช่วงนั้น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในปี 1939… Arthur C. Clarke ได้เข้ารายงานตัวทำงานกับกองทัพอากาศอังกฤษ ทำหน้าที่เป็นครูฝึกเรดาร์การบินและช่างเทคนิคเรดาร์ในช่วงเวลาที่สงครามกำลังเข้มข้นระหว่างปี 1941–1946 งานดูแลเรดาร์ลงจอดที่ Arthur C. Clarke รับผิดชอบ สามารถนำทางเครื่องบินลงจอดอย่างปลอดภัยในสภาพอากาศปิดได้อย่างยอดเยี่ยม… หลังสงคราม Arthur C. Clarke จึงได้รับปริญญาเกียรตินิยมสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จาก King’s College ในปี 1948 และรับตำแหน่งเป็นประธาน BIS อีกสองสมัยคือ ในปี 1946–1947 และปี 1951–1953 อีกด้วย

Arthur C. Clarke ย้ายไปอยู่ศรีลังกา หรือ Sri Lanka ในปี 1956 เพื่อทำงานสำรวจทางทะเลตามแนวชายฝั่งของศรีลังกา และทำงานสำรวจใต้น้ำตามแนวปะการัง Great Barrier Reef ในน่านน้ำออสเตรเลีย… Arthur C. Clarke อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านชายทะเลชื่อ อุณาวทุนา หรือ Unawatuna ใกล้กรุงโคลัมโบ 

ปี 1962… หมอแจ้งผลการวินิจฉัยโรคว่า Arthur C. Clarke เป็นโรคโปลิโอในวัย 45 ปี ทำให้งานสำรวจใต้น้ำของเขาต้องหยุดลง และใช้ชีวิตบนรถเข็นจนวันสุดท้ายของชีวิตหลังจากนั้นอีก 45 ปี

วันที่ 19 มีนาคมปี 2008… Arthur C Clarke ก็จากไปในวัย 90 ปีเศษ ทิ้งตำนานของพลังแห่งจินตนาการเอาไว้ให้โลกใบนี้มากมายล้นเหลือ ซึ่งผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มากมายถึงขนาด สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์อัศวิน โดยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้ทำหน้าที่แทนพระองค์ เชิญเครื่องทรงยศอัศวินมาถึงบ้านของ Arther C. Clarke ในศรีลังกาตั้งแต่ปี 1988… และรัฐบาลศรีลังกายกย่องให้ Arther C. Clarke เป็นพลเมืองกิติมศักดิ์ และมอบรางวัล The Lankabhimanaya Award หรือ Pride of Lanka ให้เป็นเกียรติไว้ในวันที่ 14 พฤศจิกายนปี 2005 ด้วยเช่นกัน

ประวัติและผลงานของชายคนนี้มีแง่มุมมากมายให้หยิบจับพูดถึง ซึ่งรวบรวมมาเล่าย่อๆ สั้นๆ แล้วรู้สึกเสียดายรายละเอียดและแง่มุมลึกซึ้งเต็มไปหมด… โดยส่วนตัวผมชอบคำกล่าวของนักเขียนและวิศวกรผู้ยิ่งใหญ่คนนี้อยู่บทหนึ่ง… Only Way To Discover The Limits Of The Possible Is To Go Beyond Them Into The Impossible… หนทางเดียวที่จะค้นพบข้อจำกัดที่เป็นไปได้ คือไปให้ไกลจนถึงความเป็นไปไม่ได้เท่านั้น… เอาไว้บอกตัวเองเวลาจะพูดหรือคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ตัดสินไอเดียทั้งของตัวเองและของคนรอบตัว

References…

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

โครงการทางเลี่ยงเมืองหนองคาย สัญญาณการเติบใหญ่ของเมืองเล็กๆ ริมฝั่งโขง

ผมติดตามโครงการทางเลี่ยงเมืองหนองคายมาตั้งแต่ กระทรวงคมนาคมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ 2 ปีก่อน  โดยล่าสุด โครงการทางเลี่ยงเมืองหนองคาย ได้งบประมาณจากคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติแบบลุยเต็มสูบเริ่มในปีงบประมาณ 2562… ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมา 1 เดือนแล้วครับ

Virtual Seminar Digital Asset โอกาสและความเสี่ยง

เวบไซต์กรุงเทพธุรกิจได้ออกโปสเตอร์เชิญชวนร่วมสัมนาออนไลน์ผ่าน Zoom… Youtube และ Line Official ในหัวข้อ Digital Asset โอกาสและความเสี่ยง โดยกรุงเทพธุรกิจเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในช่วงบ่าย เวลา 13.30–16.45 วันที่ 1 มีนาคม 2022

Utapao

EEC และเมืองการบิน… Update 6/2020

ข่างจาก Prachachat.net รายงานว่า… คุณรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่สายปฎิบัติการ บริษัทมหาชนจำกัด บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS รายงานผลประกอบการประจำปี 2562/2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์ โดยมีรายได้รวม 42,203 ล้านบาท ลดลง 10.8% หรือ 5,096 ล้านบาท จาก 47,299

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม ปี 2023

ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนตัวหนึ่งก็คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ ดัชนี MPI หรือ Manufacturing Production Index ของไทย ซึ่งเป็นดัชนีรายเดือนที่ถูกสร้างขึ้นเป็นข้อมูลสะท้อน GDP ภาคอุตสาหกรรม… โดยตัวเลขเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2566 ที่คุณวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแถลงไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 104.65 ขยายตัวร้อยละ 5.47 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 66.06 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรก ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 101.07 ขยายตัวร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน