Salt March หรือ Salt Satyagraha หรือในภาษาไทยรู้จักในชื่อ สัตยาเคราะห์เกลือ ที่มหาบุรุษผู้ได้ชื่อว่า นำชาวอินเดียไปสู่เอกราชจากอังกฤษนาม Mohandas Karamchand Gandhi หรือ Mahatma Gandhi หรือ มหาตมะ คานธี… พิธีสัตยาเคราะห์เกลือเริ่มต้นโดยมหาตมะ คานธี พาชาวอินเดียราว 80 คนออกเดินรณรงค์ต่อต้านกฏหมายผูกขาดเกลือ ที่เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ออกกฏหมายให้การผลิตเกลือกินเองหรือขายโดยชาวอินเดียเป็นความผิด จนเดือดร้อนไปทั่ว
พิธีสัตยาเคราะห์เกลือเริ่มขี้นราววันที่ 12 มีนาคม ปี 1930 มหาตมะ คานธีและผู้ติดตามเริ่มออกเดินเท้าจาก Sabarmati Ashram หรือ ซาบาร์มาตีอาศรม ในเมืองอาห์เมดาบัดบ้านพักของมหาตมะ คานธี ตรงไปหมู่บ้านดานดีริมทะเลห่างออกไป 390 กิโลเมตร และ 24 วันต่อมา มหาตมะ คานธี พร้อมผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นระหว่างทางมืดฟ้ามัวดิน จาก 80 คนเป็นฝูงชนเรือนล้าน… 6 เมษายน ปี 1930 มหาตมะ คานธีก็หยิบเกลือขึ้นจากพื้นเพียงหยิบมือ และประกาศที่จะไม่เสียภาษีเกลือให้อังกฤษที่เขา “ผลิตเกลือ” ในหยิบมืออย่างผิดกฏหมาย
ลอร์ดเออร์วินอุปราชผู้มีอำนาจเต็มในการปกครองอินเดียในเวลานั้น ไม่กล้าจับกุมมหาตมะ คานธีในทันที แต่ก็เริ่มจับกุมชาวอินเดียที่ฝ่าฝืนกฏหมายผลิตเกลือมากมาย จนมหาตมะ คานธีประกาศเดินสัตยาเคราะห์เกลืออีกครั้ง โดยมีจุดหมายปลายที่โรงงานผลิตเกลือที่เมือง Dharasana โดยวางหมายกำหนดการเอาไว้วันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1930… ลอร์ดเออร์วินจึงสั่งจับกุมมหาตมะ คานธีพร้อมแกนนำหลายคน รวมทั้ง ชวาหร์ลาล เนห์รู หรือ Jawaharlal Nehru ที่ต่อมามีบทบาทอย่างสูงในแวดวงการเมืองอินเดีย รวมทั้งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ และอยู่ในตำแหน่งนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 1947 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งเมื่อปี 1964
ข่าวการกักขังมหาตมะ คานธี ทำให้ชาวอินเดียมากมายเข้าร่วมพิธีเดินสัตยาเคราะห์เกลือ ตามกำหนดเดิมคือวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1930 เช่นเดิม จนเกิดการจับกุมคุมขังชาวอินเดียกว่า 60,000 คนในช่วงเวลานั้น พร้อมๆ กับความวุ่นวายจนกระทั่ง ลอร์ดเออร์วินอุปราชผู้มีอำนาจเต็มในการปกครองอินเดีย ต้องคืนอิสรภาพให้มหาตมะ คานธีในช่วงเดือนมกราคม ปี 1931 เพื่อยุติการรณรงค์ด้วยพิธีเดินสัตยาเคราะห์เกลือทั่วประเทศ และเกิด สนธิสัญญาคานธี–เออร์วิน หรือ The Gandhi–Irwin Pact ขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1931… และคนอินเดียสามารถทำเกลือกินเองได้ไม่ผิดกฏหมาย
นับแต่นั้นมา เชื้อของการแข็งขืนต่อคนผิวขาวและเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษก็มากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนพื้นเมืองในชมพูทวีป พร้อมๆ กับสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มก่อเค้าลางจนสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายน ปี 1939 โดยอินเดียไม่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือใดๆ ต่ออังกฤษเจ้าอาณานิคมตลอดสงคราม โดยมีมหาตมะ คานธีเป็นศูนย์รวมของการขัดขืนยืนหยัดต่อแรงกดดันมากมายของอำนาจสารพัด
ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ปี 1947 อังกฤษจึงจำต้องคืนเอกราชให้ดินแดนชมพูทวีปอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งเป็นสองประเทศคืออินเดียและปากีสถาน ที่มีการแบ่งดินแดนก่อนหน้านั้นโดยใช้การนับถือศาสนาเป็นเกณฑ์ โดยมีมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้นำอิสลามในปากีสถานยืนกรานว่าชาวมุสลิมในชมพูทวีปต้องมีดินแดนของตนเอง… แต่เมื่อทั้งสองชาติเห็นเส้นเขตแดนที่อังกฤษจัดการให้… ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนอินเดียปากีสถานก็ยืดยื้อยาวนานมาถึงทุกวันนี้
นี่คือเสี้ยวหนึ่งของอัตชีวประวัติของชายที่ได้รับการยกย่องในเรื่องการต่อสู้เพื่อมวลชน ด้วยวิธีสันติอหิงสา หรือ อหิมสา หรือ Ahimsa ในภาษาฮินดู และมีรูปอยู่บนธนบัตรเงินรูปีของอินเดีย และยังเป็นแรงบันดาลใจให้การต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมไปทั่วโลก…
การพูด คิดและทำหลายอย่างของมหาตมะ คานธี ถูกค้นคว้าถ่ายทอดแทบจะทุกถ้อยคำและย่างก้าว จากคนร่วมรุ่นและคนรุ่นหลังจนสร้างชายคนนี้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพไปในที่สุด แม้ว่านักวิชาการประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ จะค้นเอกสารมากมายอ้างอิงแนวคิด ชีวิตและการกระทำอีกด้านของมหาตมะ คานธี ที่แม้แต่ในอินเดียเองก็ยังมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจ จนถึงชิงชังมหาตมะ คานธีก็มีอยู่… ส่วนฝ่ายตรงข้ามกับมหาตมะ คานธีอย่างผู้มีอำนาจในอังกฤษยุคเดียวกัน ล้วนเกลียดชังมหาตมะ คานธี ที่สามารถท้าทายและล้มล้างอำนาจของเจ้าอาณานิคมด้วยวิธีที่ชาวตะวันตกรับมือไม่เป็นอย่าง “อหิมสา” ที่เอาชนะอาวุธร้ายกาจมากมายที่ชาวตะวันตกคิดค้นขึ้น
Mohandas Karamchand Gandhi หรือ โมหันดาษ การามจันด์ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม ปี 1869 ในวรรณะไวศยะ หรือ Vaishyas หรือวรรณะแพศย์ หรือวรรณะพ่อค้า ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย บิดาชื่อ การามจันด์ คานธี และมารดาคือ พุธลิบายา คานธี ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ทำให้มหาตมะ คานธี ได้เรียนคำภีร์ฮินดูอย่างบิดา และจารีตพุทธมหานิกายจากมารดาด้วย โดยเฉพาะคำภีร์ฮินดูสองเล่มหลักอย่าง อุปนิษัทและภควัทคีตา ที่มหาตมะ คานธี เอ่ยอ้างบ่อยครั้งในถ้อยแถลงเพื่อนำมวลชน… โดยส่วนตัวผมอ่านภควัทคีตา ฉบับแปลโดยอาจารย์สมภาร… ศ.ดร.สมภาร พรมทาหลายรอบ ต้องเรียนว่า… คำกล่าวอันโด่งดังอย่าง “รบเถิดอรชุน” และเนื้อความในเรื่องราวศึกสายเลือด ตระกูลปาณฑพและตระกูลเการพ ที่แฝงสัจจะธรรมเรื่องสงครามและความตายที่พระผู้เป็นเจ้าสรรเสริญการฆ่าฟันนั้น มีแนวคิดหลายแง่มุมให้วิพากษ์ได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะทัศนคติเรื่องความรุนแรงระดับสงครามศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมหาตมะ คานธีมุ่งมั่นด้วยวิธีของตนเอง โดยมีภัควัทคีตาชี้นำแนวทางตลอดการต่อสู้… ซึ่งสถานการณ์ส่วนใหญ่ในช่วงเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดีย คนอินเดียนั่นเองที่รบกันเองจนสถานการณ์วุ่นวายสับสน และความท้อแท้ระหว่างรบเพื่ออิสระภาพของมหาตมะ คานธี คงไม่ได้เกิดเพราะกลัวรบไม่ชนะอังกฤษ แต่เป็นชนะแล้วยิ่งแตกแยกจากความชิงชังแก่งแย่งกันเองมากกว่า
มหาตม คานธีและบุตรหลานเหลนรุ่นต่อมา จึงถ่อมตนเป็นคนสามัญที่เลือกไม่สืบทอดอำนาจและการเมือง จนแทบจะไม่มีใครรู้จัก… ในขณะที่คนส่วนใหญ่สับสนว่า คนนามสกุลคานธีที่โลดแล่นอยู่ในวังวนการเมืองอินเดียอย่างนางอินทิรา คานธีและบุตรหลาน แท้จริงแล้วสกุลคานธีสายนางอินทิรา คานธี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับมหาตมะ คานธีเลย แต่นางอินทิรา คานธีเป็นบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ชวาหร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียหลังได้รับเอกราชต่างหาก และอินทิรา แต่งงานกับฟีโรส คานธี ชาวปาสี และไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับมหาตมะ คานธีด้วยเช่นกัน ส่วนบุตรหลานเหลนของมหาตมะ คานธี ต่างเรียนหนังสือและประกอบสัมมาชีพเหมือนคนทั่วไป เป็นครูอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์และย้ายไปต่างประเทศโดยไม่สนใจอินเดียด้วยซ้ำ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองใดๆ ในอินเดียอีกเลย… ซึ่งแตกต่างจากตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีชวาหร์ลาล เนห์รู ที่ลูกหลานตระกูลนี้ ยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองภายในอินเดีย จนถึงขั้นถูกลอบสังหารรุ่นต่อรุ่น และโลดแล่นวุ่นวายกับการเมืองอินเดียจนถึงปัจจุบัน
ส่วนมหาตมะ คานธี ผู้หายหน้าไปจากประวัติศาสตร์การเมืองอินเดียนับแต่อินเดียได้เอกราช บิดาแห่งชาติอินเดียท่านนี้เลือกที่จะลดบทบาทตนเองและพาลูกหลานกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามธรรมดา แม้ลูกหลานจะไม่มีบทบาทและโอกาสในชื่อเสียงลาภยศ แต่สายตระกูลคานธีของมหาตมะ คานธี ก็ไม่เคยได้รับผลกระทบทางการเมืองใดๆ จากความวุ่นวายแก่งแย่งในอินเดียเลย
มหาตมะ คานธี จึงกลายเป็นบุคคลแห่งแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวทั่วโลก โดยเฉพาะการต่อสู้ของเนลสัน แมนเดลา ในประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศที่มหาตมะ คานธี วัยหนุ่ม เริ่มชีวิตการงานหลังจากเรียนจบจากอังกฤษ ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของทุกประเทศในแอฟริกา ล้วนใช้แนวทางของ มหาตม คานธี เป็นแรงบันดาลใจให้นักเคลื่อนไหวทั้งแกนนำและมวลชนทั้งสิ้น… ซึ่งประเทศไทยของเราก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายท่านที่อิงแนวทางมหาตมะ คานธี โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวชื่อดังและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่แสดงบทบาทนำในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี พ.ศ. 2535 จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมืองของรัฐไทย
คำกล่าวหนึ่งของมหาตมะ คานธีที่ผมสะสมเอาไว้ที่บอกว่า The Future Depends on What We Do in the Present. อนาคตล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเราทำในวันนี้
ซึ่งวันที่อินเดียได้เอกราช… “We do in The Present.” ขณะนั้นคือเริ่มสงครามและต่อสู้กันเองภายในอินเดีย ซึ่งมหาตมะ คานธี ตัดสินใจสอนลูกหลานให้ถ่อมตน สมถะ และหันหลังให้การต่อสู้กันเองของคนอินเดียอย่างสิ้นเชิง แม้จะกรำศึกมือเปล่ามาหลายสิบปีจนอินเดียได้เอกราช


ผมไม่รู้ว่าท่านมหาตมะ คานธีอ่านภควัทคีตาแบบไหน จึงตีความคำภีร์เล่มนี้เป็นการรบแบบอหิงสา และชนะเพื่อกลับบ้านไปเป็นคนธรรมดา… หรือมหาสงคราม ณ กุรุเกษตร ที่ท่านค้นพบ จะเป็นท้องทุ่งแห่งกิริยามนุษย์คือกายตน ใจตนและปฏิบัติตน ดั่งการตีความตามอย่างท่าน ปรมหังสา โยคานันทะ ที่อธิบายภควัทคีตาว่า คำภีร์ยิ่งใหญ่นี้จำลองสงครามที่แท้ในกายใจคนมาเล่าเป็นนิทาน
ด้วยจิตรคารวะ!
อ้างอิง