Agility เป็นบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ที่มีโครงข่ายระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับดัชนีประเทศตลาดเกิดใหม่ด้านโลจิสติกส์ หรือ Agility Emerging Markets Logistics Index หรือ AEMLI อย่างต่อเนื่อง… รายงานของปี 2019 พบว่าจีนและอินเดียอยู่อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จาก 50 ประเทศทั่วโลก… แต่ล่าสุด The Agility Emerging Markets Logistics Index 2020 ขยับอันดับประเทศไทยขึ้นมาอยู่ที่ลำดับที่ 9
ดัชนีด้านโลจิสติกส์ถือเป็นตัวชี้วัดศัยกภาพด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญ อันหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและคลังสินค้า สามารถอำนวยโอกาสด้านการลงทุนให้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีศักยภาพตามดัชนีที่พัฒนาขึ้นมาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นว่า สามารถโยกการลงทุนโดยเฉพาะการผลิต ว่าจะไปตั้งโรงงานและโกดังไว้ที่ไหนบนโลกใบนี้
ประเทศไทยเองแม้อันดับจะดีขึ้นมาอยู่ที่ 9… แต่อันดับที่ 10 ก็คือเวียดนาม ซึ่งคะแนนห่างกันเพียง 0.02 คะแนน ซึ่งถือว่าแทบจะไม่มีอะไรแตกต่าง ในขณะที่เวียดนามยังสดใหม่ต่อการลงทุนทุกด้าน และยังได้เปรียบเรื่องค่าแรงยังต่ำกว่าไทยอยู่มาก… ในขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนิเซียและมาเลเซีย ก็ยังลอยอยู่ที่อันดับ 4 และ 5… ซึ่งคำถามว่าทำไมทุนใหญ่ๆ ถ้าไม่ไปจีนกับอินเดียแล้ว จึงเลือกอินโดนิเซีย หรือไม่ก็เวียดนาม… หรือไม่ก็มาเลเซีย และแทบจะไม่มีไทยอยู่ในอันดับตัวเลือกการลงทุนมานาน
ท่านที่ทำนิคมอุตสาหกรรมทราบดีว่า… การลงทุนที่เหลือมาถึงไทยช่วงหลังปี 2010 มานี้ ล้วนเป็นบุญเก่าและสายสัมพันธ์เดิมเท่านั้น ที่เม็ดเงินลงทุนยังพอมีมาพยุงตัวเลขให้สูสีกับเวียดนาม และรู้อยู่เต็มอกว่า… วันหนึ่งเวียดนามจะแซงไทยได้แน่นอน
หลายวันก่อนผมได้ข้อมูลไม่เป็นทางการจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกระทรวงพาณิชย์ พูดถึงการค้าชายแดน ที่ช่วยตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยในช่วงที่การค้าระหว่างประเทศหลายกรณีชะลอไปเพราะวิกฤตโควิด และหลายกรณีก็หยุดไปโดยสิ้นเชิง… ข้อมูลที่น่าแปลกใจคือตัวเลขการค้าชายแดนด้านตะวันออก ไทย–ลาว–เวียดนาม–จีนตอนใต้ ที่เติบโตและมีมิติด้านโลจิสติกส์แบบข้ามพรมแดน 4 ชาติอย่างน่าสนใจ

ผมกำลังพูดถึงด่านชายแดนด้านตะวันออกในพื้นที่ภาคอิสาน ตั้งแต่บึงกาฬ นครพนม มุกดาหารจนถึงอุบลราชธานี ที่สามารถระบายสินค้าผ่านชายแดนส่งออกได้ถึง 3 ประเทศ โดยมีจีนเป็นปลายทางสุดท้ายที่เส้นทางสายนี้บริการให้ได้
ข้อมูลรายงานจากหลายหัวข้อของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำให้ทราบว่า สภาพัฒน์เองก็เห็นข้อมูลชุดเดียวกันนี้เรียบร้อยแล้ว… ซึ่งแผนพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนและอีสานตะวันออก จึงถูกปักหมุดโดยเร่งรัดให้เกิดศูนย์กลางอีก 3 จังหวัดเพิ่มเติมด้วยกัน คือ จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม… โดยแผนแม่บทศูนย์นครพนมจะเป็นจังหวัดหลักด้านโลจิสติกส์ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นประตูเพื่อต้อนรับสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจี–เวียดนาม–ลาวอีกด้วย ส่วนศูนย์กระจายสินค้าหลัก หรือแผนท่าเรือบกในพื้นที่ภาคอีสานยังคงยืนยันมี 3 จุดเช่นเดิมคือ ศูนย์ขอนแก่น ศูนย์นครราชสีมา และศูนย์อุบลราชธานี… สรุปว่าประเทศไทยขยายศักยภาพด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นเท่าตัวและเร่งด่วนด้วย
แต่โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานไม่ใช่เรื่องโลจิสติกส์หรอกครับ… แต่เป็นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดชายแดนในอีสานส่วนใหญ่ชงเรื่องเข้ามาแข่งกันประกาศว่ามีเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตัวเอง… ขอที่ดินราชพัสดุไปรอจัดสรร แต่ไม่มีใครไปจองทำอะไรบนที่ดินเปล่าๆ ในเขตป่าเสื่อมโทรมของแต่ละจังหวัด… ทำให้แพลนนิ่งกลายเป็นแผนนิ่งๆ จนเหลือแต่โรงโม่หินกับท่าทรายให้เห็นเป็นอุตสาหกรรมของจังหวัดชายแดนฝั่งอีสานเป็นส่วนใหญ่
จบดีกว่าครับ… ผมบ่นมากเกินไปแล้ว เอาเป็นว่า ผมเอาข่าวดีมาบอกพี่น้องทางอีสานครับ!!!
References…