จากข้อมูลในปี 2561 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า… ประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10 เปอร์เซนต์ถือครองที่ดิน 94,860,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 61.5 เปอร์เซนต์… ขณะที่ประชากรที่ยากจนที่สุด 10 เปอร์เซนต์ของประเทศ… ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1 เปอร์เซนต์… โดยมีตัวเลขช่องว่างแตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า
แม้จะเป็นการเปรียบเทียบ 10 เปอร์เซนต์ที่รวยที่สุด กับ 10 เปอร์เซนต์ที่จนที่สุด แต่ช่องว่างที่พบเป็นตัวเลขสัดส่วนที่น่าตกใจไม่น้อย… แนวคิดการออกมาตรการทางภาษีในลักษณะอัตราก้าวหน้าจึงเกิดขึ้น จนนำเรามาถึงภาษีที่ดินใหม่ที่จะเริ่มใช้ 1 มกราคม 2563 นี้แล้ว
ท่านที่ถือกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด กรุณาตรวจสอบให้ชัดเจนว่าต้องจัดการบ้านที่ดินแปลงไหนอย่างไร… หลายกรณีต้องยื่นภาษีภายในเดือนเมษายน… ไม่ได้ผ่อนผันเหมือนบางกรณีที่ผ่อนผันการยื่นไปถึงเดือนสิงหาคม
แต่ก็ต้องยื่น!
คุณประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายแยกประเด็นให้เห็นชัดๆ ว่า… ภาษีที่ดินจะเก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจะดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย อัตราภาษี 4 ประเภท ได้แก่
1. เกษตรกรรม
2. อยู่อาศัย
3. อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย
4. รกร้างว่างเปล่า
ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีทุกปี และต้องชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ ยกเว้นปี 2563 สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือนสิงหาคม 2563
ส่วนการหามูลค่าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งห้องชุด ให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือราคาประเมินของกรมธนารักษ์ มาใช้คำนวณ… แต่สำหรับปี 2563 นี้ให้นำบัญชีราคาประเมินปี 2559-2562 มาใช้ก่อน
สำหรับกรณีที่ดินใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม…
จะยกเว้นภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรกรรม ในปี 2563-2565 หลังจากนั้น… ตั้งแต่ปี 2566 มูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรก จะได้รับการยกเว้น จากนั้นที่ดินมูลค่า 51-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01%… มูลค่าที่ดิน 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%
ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% และเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปีแต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 30%
สำหรับที่อยู่อาศัย…
กรณีเป็นบ้านหลังหลักและมีชื่อเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุด… จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ส่วนบ้านหลังที่สองหรือหลังอื่นๆ… หากมีชื่อเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว หรือปลูกสร้างบนที่ดินบุคคลอื่น จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท
สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ได้นำไปให้เช่า… จะถือเป็นบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งต้องเสียภาษีอัตรา 0.3% ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากกฎหมายนี้ จะได้บรรเทาภาระภาษีของส่วนต่างเมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562 ดังนี้
– ปีที่ 1 ภาษีเดิมปี 2562 + 25% ของส่วนต่าง
– ปีที่ 2 ภาษีเดิมปี 2562 + 50% ของส่วนต่าง
– ปีที่ 3 ภาษีเดิมปี 2562 + 75% ของส่วนต่าง
ในระหว่างนี้ ผู้ที่เสียภาษีต้องให้ความสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ…
1. ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า บัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้
2. ตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องตรวจสอบการประเมินภาษีดังกล่าวว่า… ใช้ราคาประเมิน ทุนทรัพย์และอัตราภาษีตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงการคำนวณภาษีว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้าน และอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
3. ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด โดยกระทรวงมหาดไทย ประกาศขยายเวลาในการชำระภาษี ให้สามารถชำระได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เป็นแรงกระตุ้นให้บรรดาแลนด์ลอร์ด ต่างนำแลนด์แบงก์ที่ทิ้งร้างเป็นที่รกร้างออกมาทำประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพราะพื้นที่ที่ถูกปล่อยรกร้างจะเจอรีดภาษีหนักกว่า… อย่างกรณีสวนมะนาวบนที่ดินมูลค่าหลายสิบพันล้านบาทขนาด 24 ไร่ บนถนนรัชดาภิเษก ด้วยมูลค่าที่ดินเกิน 100 ล้าน ต่อให้ปลูกมะนาวกลางกรุงและเข้าเกณฑ์เกษตรกรจริง ก็ยังต้องจ่ายภาษี 0.03% ในปี 2566 เป็นต้นไปอยู่ดี
นอกจากนั้น… มีข่าวว่า ตระกูลแลนด์ลอร์ดเจ้าของที่ดินมากมาย ต่างตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจการเกษตรกันอย่างคึกคัก… และอะไรๆ คงไม่เหมือนเดิม ซึ่งปรากฏการณ์ที่กลุ่มทุนขยับตัวระดับนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน… แรงกระเพื่อมรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบยาวไปอีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย… โดยเฉพาะกับผู้ที่มีที่ดิน 20 เปอร์เซนต์ของประเทศ ที่เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินกว่า 80 เปอร์เซนต์ในระบบ… รวมทั้งท่านที่มีที่ดินเกิน 1,000 ไร่ อีก 837 รายด้วย
ประเด็นก็คือ… ข้อมูลถูกกางให้เห็นหมดเลยครับ!
ขอบคุณภาพจาก Dusit Suites Rachadamri