21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เปิดเผยตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 3/2565 โดยพบว่า… ขยายตัวอยู่ที่ 4.5 % เร่งขึ้นจาก 2.3 % และ 2.5% ในไตรมาสแรก และ ไตรมาส 2 ตามลำดับ… ในขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.7% การบริโภคเอกชนขยายตัว 9% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.8% และ อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 7.3%
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภาพรวมรวมเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 ขยายตัวที่ 3.1% โดยประเมินว่า… ภาคการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น แต่การส่งออกสินค้าชะลอตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านการผลิตสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี พ.ศ. 2565 จะขยายตัวที่ 3.2% เร่งขึ้นจาก 1.5 % ในปี พ.ศ. 2564… อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ 3.6%… ส่วนปี พ.ศ. 2566 คาดว่า GDP ของไทยจะขยายตัว 3.0-4.0 % โดยมีค่ากลางที่ 3.5%… การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3% มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 1 % และ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ช่วง 2.5 – 3.5 % และ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ 1.1 % ของ GDP
อย่างไรก็ตาม… คาดการณ์ในปี พ.ศ. 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 10.2 ล้านคน มีรายรับกว่า 5.7 แสนล้านบาท และ คาดว่าในปี พ.ศ. 2565 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% และ ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่า 23.5 ล้านคน มีรายรับกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีหน้าการท่องเที่ยวจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ทั้งนี้… ด้วยมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่… การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน… การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการบริโภคภายในประเทศ และ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเษตร
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ภาวะหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย และ ความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19