ความเคลื่อนไหวในวงการ EV ของไทยที่เฝ้ารอกันว่าจะมีโปรโมชั่นจากรัฐบาลให้ได้ซื้อหารถไฟฟ้ามาใช้ในราคาสมเหตุสมผลเมื่อไหร่ ซึ่งอีกไม่นานก็คงมีข่าว PM 2.5 ในหน้าแล้งวนเวียนมาหลอกหลอนคนเมืองอีกแล้ว… แล้วก็จะมีหัวข้อ EV ที่เปิดประเด็นมาเมื่อไหร่ก็ต้องหันไปด่ารัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมใช้พาหนะพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยถือว่าล้าหลังเชิงนโยบายในกรณีนี้อย่างน่าเจ็บใจ
แต่ล่าสุดก็มีข่าวจากคุณสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ออกมาบอกนักข่าวในวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ว่า… ขณะนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุน และ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศไทยมีความชัดเจนแล้ว
โดยข้อมูลเบื้องต้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคาดว่า… เป็นไปได้ที่จะลดภาษีเป็นแพ็คเกจ ทั้งภาษีนำเข้า EV และอัตราภาษีสรรพสามิตก็จะมีการปรับลดลงด้วย
ส่วนแหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า… การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จะมีวาระพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งจะส่งเสริมการใช้อีวี 3 ประเภท ได้แก่… รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และ รถกระบะ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และ เมื่อมาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปออกกฎหมายและทำสัญญากับค่ายรถที่เข้าร่วม
โดยมาตรการส่งเสริมการใช้ EV ของประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่… ปี 2565-2568 ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ
- เงินอุดหนุนรถยนต์ และ รถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และ รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน
- ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และ รถกระบะลดลงเป็น 0%
- ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน หรือ CBU สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566
- ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ หรือ CKD จำนวน 9 รายการ
ทั้งนี้… ค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไขที่ประกอบไปด้วย
- ต้องเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศที่ทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยจะจ่ายอุดหนุนเงินและภาษีไปที่ผู้ประกอบการ
- ประเภทรถยนต์ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะ และ รถจักรยานยนต์เฉพาะ BEV หรือ Battery Electric Vehicle เท่านั้น
- ส่วนรถ EV ที่ราคาขายปลีกแนะนำอยู่ที่ 2-7 ล้านบาท จะได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% ในปี พ.ศ. 2565-2566 ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% ในปี พ.ศ. 2565-2568 แต่ต้องเลือกผลิตรถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำข้ามาจำหน่าย
โดยเงื่อนไขการใช้สิทธิ์และบทลงโทษ คือ
- ต้องวางเงินค้ำประกันประกอบการใช้สิทธิ์
- หากไม่ปฏิบัติติตามเงื่อนไข ต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย และ ยึดเงินค้ำประกันจากธนาคาร รวมทั้งไม่ได้สิทธิลดภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
สำหรับมาตรการการสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV แบ่งเป็นรถ 3 ประเภท ได้แก่
- รถยนต์ไฟฟ้า… ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยผลิตและประกอบในประเทศ จะได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ในปี พ.ศ. 2565-2566 ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% ในปี พ.ศ. 2565-2568 และ เงินอุดหนุนปี พ.ศ. 2565-2566 จำนวน 70,000 บาท สำหรับ EV ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 KWh… หรือ 150,000 บาท สำหรับ EV ขนาดแบตเตอรี่มากกว่า 30 KWh และในปี พ.ศ. 2567 ต้องผลิต EV ในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในปี พ.ศ. 2565-2566 โดยผลิตรถรุ่นใดก็ได้… ทั้งนี้ ผู้รับสิทธิ์มาตรการส่งเสริมทั้ง 2 รายการ ทั้งขนาดแบตเตอรี่ ต่ำกว่า 30 KWh และเกินกว่า 30 KWh ข้างต้น… ต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยผลิตรถยนต์ชดเชยในปี พ.ศ. 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้าแบบ CBU ในปี พ.ศ. 2565-2566 หากจำเป็นต้องขยายเวลาการผลิตชดเชย จะให้สิทธิ์ได้ถึงปี พ.ศ. 2568 แต่ต้องผลิตในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า หรือ นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน
- รถกระบะ… ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในปี พ.ศ. 2565-2568 และ ให้เงินอุดหนุนปี พ.ศ. 2565-2568 คันละ 150,000 บาท สำหรับรถยนต์กระบะประเภท BEV กระบะที่ผลิตในประเทศ และ มีแบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 30 KWh ขึ้นไป… โดยเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิตามมาตรการส่งเสริมต้องทำสัญญากับกรมสรรพสามิตก่อนการขอใช้สิทธิผลิตรถยนต์กระบะประเภท BEV ทั้งนี้… เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด โดยผู้ขอรับสิทธิต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำกับกรมสรรพสามิตเพื่อพิจารณา สำหรับรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ผู้ขอรับสิทธิต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
- รถจักยานยนต์ไฟฟ้า… กรณีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้สิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ทั้ง CKD และ CBU ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2568
ส่วนข้อมูลเชิงนโยบายจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า… กรณีเงินอุดหนุนที่จะให้แก่คนซื้อ EV นั้น คาดว่า จะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าโครงการรถยนต์คันแรกในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สำหรับปัญหาในเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับ EV นั้น… เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาหรืออุปสรรค ถึงขั้นทำให้คนไม่สนใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อชาร์จไฟเต็มจะสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 400-500 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางความยาวจากภาคใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศ มีความยาวเพียง 2 พันกว่ากิโลเมตร การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียง 40-50 สถานีก็สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศได้อยู่แล้ว