คนทำสตาร์ทอัพ หรือ Startup หรือ วิสาหกิจริเริ่มใหม่ หรือที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้คำว่าวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็ชอบใช้ทับศัพท์ว่า Startup และถ้าต้องนิยามด้วยภาษาไทยสูงศักดิ์หน่อยก็จะเรียกว่า “วิสาหกิจริเริ่มใหม่” มากกว่า… เพราะสตาร์ทอัพไม่ได้เป็นแค่การตั้งธุรกิจใหม่เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังใช้โมเดลการสร้างรายได้แบบใหม่ ซึ่งหลายกรณีมีอะไรใหม่มากมายในเนื้องาน และ การลงทุนลงแรง
นานมาแล้วที่วงการสตาร์ทอัพไทยถามหา Unicorn Startup หรือ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากิจการถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… ประเทศไทยเพิ่งมีปรากฏการณ์ Unicorn เพียง 2-3 ราย เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยถูกเมินจากนักลงทุนทั้งใน และ ต่างประเทศนั้น… ก็ด้วยระบบนิเวศทางการลงทุนในประเทศไทยสำหรับสตาร์ทอัพ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านมาเลเซีย และ สิงคโปร์ หรือ แม้แต่อินโดนิเซียแล้ว… ประเทศไทยยังมีการบ้านที่ต้องสะสางสร้างทำ และ พัฒนาระบบนิเวศอีกมาก… โดยเฉพาะประเด็นภาษีเงินลงทุน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เองที่สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ DCT ภายใต้การนำของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ และ เครือข่ายพันธมิตร ทั้ง NSTDA หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ… NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ก.ล.ต. ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และ กรมสรรพกร เพื่อออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน หรือ Capital Gain Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย… โดยรัฐบาลภายใต้การบริหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือทางยุทธศาตร์สำหรับดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย รวมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน… ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ประมาณไตรมาสแรกของปีนี้… โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพไทยรายใหม่ ให้ถึง 5,000 รายในปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า… ถือเป็นความสำเร็จ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในประเทศไทย นับจากนี้ สภาดิจิทัลฯ จะเร่งดำเนินการประสานและร่วมทำงานในการออก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพแก่ผู้ประกอบการไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้นอกเหนือจากภาพการลงทุนแล้ว สภาดิจิทัลฯ ยังคงให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนา Ecosystem ให้แข็งแกร่ง โดยจะเน้นพัฒนากำลังคนดิจิทัลให้เทียบเท่าระดับสากล คือ ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในกลุ่มทักษะขั้นสูง 3.5 ล้านคนภายในปี 2570 โดยจะมีการสร้างมาตรฐานและใบรับรองหลักสูตรสำหรับทักษะดิจิทัลขั้นสูง โดยจะส่งเสริมการพัฒนาทักษะของกำลังคน การพัฒนาแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ที่ได้รับการรับรอง สนับสนุนให้มีการเลือกเรียนในสาขาดิจิทัลขั้นสูงมากขึ้น รวมทั้งการดึงผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มจำนวนกลุ่มแรงงานดิจิทัลขั้นสูงในอนาคต
ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ซึ่งมีสาระพิจารณาพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน หรือ Capital Gain Tax โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานที่ประชุม… ก็ได้เห็นชอบในมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ และ ได้มอบหมายให้สภาดิจิทัล… กระทรวงการคลัง และ กรมสรรพากร หาข้อสรุปในการในการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกา เพื่อออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ปี 2559 (ฉบับที่ 597) และ ปี 2560 (ฉบับที่ 636) เพื่อรายงานความคืบหน้าให้ฝ่ายเลขานุการ และ ศบศ. ภายใน 30 วัน… และยังมอบหมายให้ทางสภาดิจิทัลเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรงการคลัง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการและกำหนดแนวทางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศ
ด้านนักลงทุน… คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ ในฐานะนายกสมาคม Thai Venture Capital Association หรือ TVCA และ ผู้บริหาร N-Vest Venture Co., Ltd กล่าวว่า… พ.ร.ฎ.การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ฉบับนี้ถือว่าเป็นสร้างสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมศักยภาพการลงทุนให้กับสตาร์ทอัพและ Tech Companies ได้อย่างมาก อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ อาจไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดให้ต่างชาติย้ายฐานการลงทุนมาประเทศไทยในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตสู้กับประเทศอื่นได้ และ จะทำให้สตาร์ทอัพไทยสามารถดึงบุคลากรที่มีศักยภาพจากทั่วโลกมาร่วมสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านคุณณิชาภัทร อาร์ค จาก Openspace Ventures ก็ร่วมให้ความเห็นว่า… การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ครั้งนี้จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพจะพิจารณาหลายปัจจัย ตั้งแต่แผนธุรกิจและศักยภาพของสตาร์ทอัพ… Market Size… การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพิจารณาเรื่องนโยบายภาษีของประเทศที่จะเข้าลงทุนด้วย…

ขอบคุณเนื้อข่าวจาก Thansettakij.com ครับ!
References…