สืบเนื่องจากการแถลงข่าวการลงพื้นที่ตรวจราชการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา… และ Properea ได้รายงานสรุปข่าวแถลงวันนั้นไปกับบทความตอน Roadmap Dry Port… แผนพัฒนาท่าขนส่งสินค้าทางบก ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งโฟกัสความเคลื่อนไหว Dry Port หรือ ท่าขนสินค้าทางบก เป็นสำคัญ…
แต่ข่าวแถลงวันนั้นมีเรื่องอื่นๆ ที่ สนข. หรือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ในฐานะมันสมองด้านแผนคมนาคมขนส่งของชาติ ได้ชงเรื่องรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความคืบหน้าแบบรายงานเพื่อทราบ… จะมีโครงการใหม่รายงานอย่างเป็นทางการ หลังจากมีคำลือเรื่องสร้างสะพานข้ามอ่าวไทย ที่ผมก็เคยได้ยินมาก่อนหน้าและคิดว่าเป็นเรื่องตลกเหมือนหลายๆ ท่าน… แต่เมื่อโฆษกรัฐบาลแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ… ผมคิดว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมมาแบ่งปันทุกท่านแล้วหล่ะ
โครงการสะพานไทยเบื้องต้นกำหนดทางเลือกไว้ 2 เส้นทาง คือ แหลมฉบัง–เพชรบุรี ระยะทาง 86 กิโลเมตร และ พัทยา–ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 110 กิโลเมตร… ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงภายใน 10-15 ปีนี้ ก็น่าจะทำลายสถิติสะพานข้ามทะเลยาวที่สุดกว่าแชมป์เดิมอย่าง โครงการสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ระยะทาง 55 กิโลเมตร
คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า.. การพัฒนาและสร้างความเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะจะมีส่วนส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว
ที่จริงประเด็นสะพานไทยตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่ากระแสในโซเชี่ยลหลักๆ มีการพูดถึงไม่น้อย และมีกระทู้โยนไอเดียในพันทิปพอหอมปากหอมคอ… แต่ก็ไม่มีใครมีข้อมูลมากนัก
ข้อมูลที่ผมมีอยู่ตอนนี้เป็นบทวิเคราะห์ โครงการสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ระยะทาง 55 กิโลเมตร จากเวบไซต์ BBC.com เผยแพร่ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2018 ก่อนการเปิดใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ในวันที่ 23 ตุลาคม ปี 2018
ความสำคัญของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ที่เวบไซต์บีบีซีระบุไว้ มีความหมายเชิงสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของจีน เพื่อให้ บริเวณที่เรียกว่า Greater Bay Area กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อแข่งขันกับเมืองท่าสำคัญของโลก อย่าง นครซานฟรานซิสโก นครนิวยอร์ก และกรุงโตเกียว… ซึ่งการเชื่อมเส้นทางในเวิ้งอ่าวช่วยย่นเวลาการเดินทางระหว่าง ฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าลงได้มาก… และการเปิดใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า สร้างความเชื่อมั่นให้ชาวจีน ที่กำลังขับเคี่ยวสงครามการค้ากับสหรัฐอย่างมาก
เกาะเทียมจุดขึ้นลงอุโมงค์ลอดของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ใช้เวลาในการวางแผน 6 ปี และก่อสร้างนาน 8 ปีจึงแล้วเสร็จ บนเส้นทางมีอุโมงค์ลอดเส้นทางเดินเรือยาว 6.7 กิโลเมตร ช่วยให้เรือขนส่งสินค้าแล่นผ่านได้… โดยมีเกาะเทียมขนาดสร้างไว้ก่อนขึ้นลงอุโมงค์ลอดด้วย… โครงการนี้เป็นการรวมระหว่างสะพานข้ามทะเลและอุโมงค์ใต้ทะเล มีข้อมูลว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างครั้งนี้สามารถใช้สร้างหอไอเฟลได้ถึง 60 หอทีเดียว
อย่างไรก็ตาม… แม้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า จะสร้างเสร็จเปิดใช้ไปแล้ว แต่ประเด็นการเมืองที่ฝ่ายฮ่องกงตั้งข้อสังเกตุเรื่องความพยายามของรัฐบาลจีนในการกลืนฮ่องกง เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นระหว่างก่อสร้าง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ยังกล่าวหาโจมตีกันไม่สิ้นสุด
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ว่า โครงการก่อสร้างสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ซึ่งมีการถมทะเลสร้างเกาะเทียม “อาจทำลายระบบนิเวศทางทะเล” ในแถบดังกล่าว… หนึ่งในดัชนีชี้วัดเรื่องนี้คือ โลมาขาวเทา หรือ โลมาเผือก หรือ Chinese White Dolphin ซึ่งอยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น หรือ UCN Red List ของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์กำลังหายไป
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สาขาฮ่องกงระบุว่า… จากการสังเกตจำนวนโลมาขาวเทาในทะเลแถบฮ่องกงพบจำนวนลดลงจาก 148 ตัว มาอยู่ที่ 47 ตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันได้หายไปจากบริเวณสะพานแห่งนี้แล้ว ซึ่ง WWF แสดงความกังวลว่าโครงการนี้จะสร้างความเสียหายอย่างถาวรให้ทะเลแถบนี้ และอาจทำให้ประชากรโลมาขาวเทาไม่เพิ่มจำนวนขึ้นอีกเลย
ตามดูกันต่อไปครับว่า… การผลักดันจะเดินไปต่ออย่างไร?
อ้างอิง