วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566… ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่แม้จะมีทิศทางชะลอลงแต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
เงินบาทเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2565 ของไทยที่ขยายตัวเพียง 1.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6% สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตและการปรับลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่หนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของ FED
ในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566… เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ… สำหรับสถานะพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นั้น… แม้นักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิหุ้นไทยเป็นมูลค่า 1,624 ล้านบาท แต่มีสถานะยังเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 15,405 ล้านบาท… โดยมีพันธบัตรขายสุทธิ 10,980 ล้านบาท และ ตราสารหนี้หมดอายุ 4,425 ล้านบาท
จากข้อมูลการเงินการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา… ท่านที่เป็นนักลงทุนคงต้องตื่นตัวเป็นพิเศษในสัปดาห์ที่อ่อนไหวนี้ เพราะค่าเงิน และ การเคลื่อนย้ายทุนข้ามชาติกระทบถึงตลาดทุนไทยอย่างตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการเก็งกำไรแบบต่างๆ ทั้งค่าเงิน ทองคำ และ คริปโตครับ!
References…