ช่องวิดีโอ TED Talks สำหรับนักนิยมสุนทรพจน์สากล ถือว่าเป็นสวรรค์ของช่องทาง “ดูคลิปเอาความรู้และแรงบันดาลใจ” ที่ใครพลาดถือว่าเสียโอกาสอะไรๆ ไปเยอะ โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้นำหรือมีแผนจะเป็นคนใหญ่คนโตที่ต้องขึ้นพูดต่อหน้าคนเยอะๆ หรือแม้แต่คนตัวเล็กๆ ที่ต้องพูดหรือบรรยายเพื่อบอกเล่าหรือนำเสนออะไรกับใครก็ตาม… การพูดแบบ TED ถือเป็นแนวทางความสำเร็จที่ใครเลียนแบบได้ ไม่มีทางอายใครเขาแน่นอน
ในบรรดา TED Talks ที่ดีที่สุดตลอดกาล 10 อันดับ หรือ Top 10 TED Talks of All Time ซึ่งมียอดวิวสูงตลอดเวลา 10 อันดับนั้น… ชื่อของ Brene Brown กับคลิปยาวเกือบ 21 นาทีเรื่อง The Power of Vulnerability หรือ พลังของความเปราะบางทางใจ… ติดอยู่อันดับสิบในวันที่ผมเขียนต้นฉบับช่วงกลางเดือนมกราคม ปี 2021 ครับ… แม้จะหล่นมาจากอันดับ 5 เมื่อตอนที่เพื่อนท่านหนึ่งส่งต่อมาทางไลน์แชท เมื่อหลายปีก่อน… เป็นช่วงเวลาที่ผมเจอกับวิกฤตวัยกลางคนพร้อมอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ปัญหาสุขภาพจนถึงเรื่องอนาคตของตัวเองและครอบครัวที่ต้องผ่านให้ได้ในช่วงเวลานั้น
Professor Dr.Brené Brown หรือ ศาสตราจารย์ ดร.เบรเน บราวน์ เป็นศาสตรจารย์ประจำที่ University of Houston และ University of Texas at Austin เป็นนักเขียนและนักวิจัยด้านสังคมวิทยาที่สนใจและถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ ความละอาย และความย้อนแย้งในทัศนคติและอารมณ์ความคิดของผู้คน ซึ่งเธอค้นพบความเปราะบางอันงดงามของจิตใจ ผ่านการวิเคราะห์และรีวิวกลุ่มตัวอย่างที่เธอสัมภาษณ์เชิงลึกมากมายระหว่างพัฒนาดุษฎีนิพนธ์
Brené Brown นักศึกษาปริญญาเอกผู้เติบโตมากับสายอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งงานในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทมาแล้ว ทำให้เธอเข้าใจและรู้ดีว่า “ความสัมพันธ์ของผู้คน” เป็นหลักแรกของการเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ถูกทารุณกรรมและถูกทอดทิ้ง
การสัมภาษณ์เชิงลึก หรือ In-depth Interview กลุ่มตัวอย่างของ Brené Brown ในฐานะนักวิจัยระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอก พาเธอไปพบความย้อนแย้งของคำตอบที่อยู่ตรงกันข้ามกับคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า… เมื่อเธอถามเรื่องความรัก กลุ่มตัวอย่างจะเล่าเรื่องความชอกช้ำผิดหวังในรักให้เธอฟัง… เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างก็เล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ตอนแตกแยกให้รู้…
นั่นเป็นที่มาของการค้นหาต้นตอความย้อนแย้งบนความสัมพันธ์จนพบกับ… ความเปราะบางในจิตใจที่เรียกว่า Shame หรือ ความละอาย ซึ่งเป็น Fear หรือ ความกลัวต่อการถูกตัดขาด เมื่อรู้สึกว่าจะมีคนอื่นรู้เห็นตัวตนและสิ่งที่เกิดขึ้นหรือทำลงไป…
ในคลิป TED Talks: The Power of Vulnerability ของ Dr.Brené Brown ที่ขึ้นปาฏกฐาไว้ตั้งแต่ปี 2011 บอกไว้ชัดเจนว่า… ความละอายเป็นเรื่องดีสำหรับความสัมพันธ์และการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ในขณะเดียวกัน… การค้นคว้าครั้งนั้นของเธอยังได้พบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีความมั่นใจ ไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง หวั่นไหวและหวาดกลัวน้อยกว่า ซึ่งแง่มุมร่วมที่เธอพบในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้คือ… Courage หรือความกล้า… เป็นความกล้า หรือ Courage ที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า Cor ที่แปลว่าหัวใจ โดยเฉพาะความกล้าที่จะมองตัวเองตามที่เป็นจริงและเห็นที่เป็นจริง รวมถึงความกล้าที่จะบกพร่อง… ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเพราะ กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Compassion หรือ รู้ทิศรู้ที่มาของตัวเองจนภาคภูมิและรู้รักตัวเอง ซึ่งมีผลทำให้รู้จักใส่ใจและรักผู้อื่นเป็น เพราะคนเราไม่มีทางเห็นอกเห็นใจใครเป็นถ้าไม่รักตัวเองเป็นก่อน… แต่ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ Connection หรือความสัมพันธ์ ซึ่งต้องสร้างด้วยการละตัวตนเพื่อให้เห็น “ความจริงใจ” ที่จะสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาเติมตัวตน… และสิ่งสำคัญที่สุดที่กลุ่มตัวอย่างที่มีความมั่นใจ ไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง หวั่นไหวและหวาดกลัวน้อยกว่ามีเหมือนกันก็คือ… Vulnerability หรือความอ่อนไหวเปราะบางที่เปิดเผย… กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาอ่อนไหวเปราะบางนั้น ทำให้พวกเขางดงามมากกว่าจะทำให้อ่อนแอ พวกเขาไม่ได้บอกว่าความอ่อนไหวเปราะบางเป็นเรื่องง่าย และไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องเจ็บปวดขมขื่น แม้จะต้องบอกรักก่อนโดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะรักหรือไม่ เป็นความยินยอมที่จะทำอะไรเพื่อความสัมพันธ์ได้ แม้ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม
ความจริง… คุณค่าและความลึกซึ้งของปรัชญาที่อธิบายผ่าน Vulnerability หรือ ความอ่อนไหวเปราะบาง ที่ผู้คนใช้ห่อหุ้มความสัมพันธ์ในบริบทของแต่ละแบบ ตามทฤษฎีของ Professor Dr.Brené Brown ที่ผมเพียรตีความไว้ในพารากราฟก่อนหน้านี้… ผมทราบดีว่ายังมีรายละเอียดและมิติที่ผมจนปัญญาจะตีความมาอธิบายให้ได้ดีกว่านี้… หลายปีก่อนผมได้หนังสือชื่อ Daring Greatly: How the Courage to Be Vulnerable Transforms the Way We Live, Love, Parent, and Lead ของ Dr. Brené Brown จากเพื่อนท่านหนึ่ง อ่านคำนำเสร็จแล้วผมก็วางไว้บนหลังคารถเพื่อให้มือว่างไขกุญแจรถแบบโบราณ เข้าไปนั่งและขับออกไปโดยไม่รู้ว่าลืมหนังสือไว้บนหลังคารถจนหลายชั่วโมงผ่านไป
ปรัชญาที่ Dr. Brené Brown ค้นพบในทฤษฎี Vulnerability หรือ ทฤษฎีความอ่อนไหวเปราะบาง ที่ผู้คนใช้ห่อหุ้มความสัมพันธ์นั้น คำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่จะชื่นชมการอธิบายและสนับสนุนให้คนยอมรับความเปราะบางของจิตใจตัวเอง และเปิดใจยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นจะได้ไม่ถูกความละอาย หรือ Shame คุกคามให้กลัวไปหมด… ซึ่งมีตัวอย่างมากมายตั้งแต่ศัลยกรรมร่างกายเพราะอายและกลัวคนมองว่าดูไม่ดี ไปจนถึงหลบออกจากสังคมผู้คนและทุกความสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่ต้องการการยอมรับจากทุกความสัมพันธ์ไม่ต่างจากคนที่ชวนเพื่อนไปแฮงค์เอาท์สม่ำเสมอ
เรื่องราวของ Dr. Brené Brown และทฤษฎี Vulnerability ของเธอถูกสร้างเป็นภาพยนต์สารคดีเรื่อง Brené Brown: The Call to Courage โดย Netflix ออกฉายในปี 2019… เป็นเรื่องราวของคุณแม่ลูกสอง กับครอบครัวที่อบอุ่นหลังมรสุมมากมายที่เธอและสามี Steve Alley ฟันฝ่ามาด้วยกัน… ผลงานตามแนวคิดและระเบียบวิธีวิจัยว่าด้วย Vulnerability, Courage, Shame, and Empathy ของเธอได้รับการยกย่องให้เป็น Grounded Theory และยังคงเป็นผู้สอนสิ่งที่เธอสร้างให้ลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยแห่งเมือง Houston… นักวิจัย นักเขียนและนักเล่าเรื่องท่านนี้มีวรรคทองที่กระตุกผู้คนมากมาย โดยส่วนตัวชอบและจดจำท่อนที่บอกว่า Talk To Yourself Like You Would To Someone You Love… คุณควรคุยกับตัวคุณเหมือนคุณคุยกับใครซักคนที่คุณรักล้น
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ!
Reference…