เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลือเป็นความหวังของไทยในไตรมาสสุดท้ายปี 2022 คือการท่องเที่ยว… ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรง และ โดยอ้อมต่างก็พยายามเดินหน้าเปิดการท่องเที่ยว โดยมีดัชนีหลายตัวที่บ่งบอกว่าดีวันดีคืนอย่างชัดเจน… ในขณะที่การดำเนินนโยบายในภาพรวมเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพภายใต้กรอบความยั่งยืนเองก็เข้มแข็งโดดเด่นอย่างน่าสนใจเช่นกัน
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา… นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ไปเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร กิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น… โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ที่ดำเนินงานภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์ “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Management Standard หรือ STMS จาก 7 จังหวัด ทั้งพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ เขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่
- กระบี่
- กำแพงเพชร
- ชลบุรี
- ตราด
- ประจวบคีรีขันธ์
- เพชรบุรี
- สุโขทัย
โดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. มีภารกิจในการประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐในทุกระดับให้บริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สามารถรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม… ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตระหนักดีว่า ไม่อาจพัฒนาการท่องเที่ยวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพียงลำพังได้
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงต้องการขยายแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมาก และ เปรียบเสมือนด่านแรกในการให้คำปรึกษา กำกับดูแล ให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จึงได้พัฒนาและส่งเสริมการใช้งาน “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ STMS” เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และ ได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวโดย สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล จนถึงปัจจุบันมีองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วถึง 79 องค์กร
มาตรฐาน STMS จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของผลอันเกิดจากการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ รวมทั้งการปรับปรุงศักยภาพการบริหารจัดการทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งความสำเร็จในการปฏิบัติตามมาตรฐานฯ นั้น มีปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ… ความมุ่งมั่นของบุคลากรขององค์กรในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง… ซึ่งหากองค์กรใดมีมาตรฐานการจัดการอื่นที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันก็สามารถนำไปบูรณาการเข้ากับมาตรฐานที่มีอยู่เดิมได้
นอกจากนั้น… นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า… ในอนาคต อพท. จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS และ มีผลการดำเนินงานดีอย่างต่อเนื่องได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีความสนใจจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ของตนตามเกณฑ์ STMS เพื่อให้มีการนำเกณฑ์ดังกล่าวไปขยายผลในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
References…