สถาปัตยกรรม วิศวกรรมและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศน์การอยู่อาศัย อันเป็นปัจจัยสำคัญเท่าๆ กับอากาศ อาหาร ยาและเสื้อผ้าของใช้… ปัจจุบัน! ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบผู้คนอย่างชัดเจนจนทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเราคิดจะทำนับจากนี้ ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อมให้มากและหาทางที่ดีกว่าที่เป็นมาให้มาก โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรและขบวนการมากมายเพื่อให้ได้อาคารหนึ่งหลัง
วันนี้จะพามารู้จักกับแนวคิดสถาปัตยกรรมยั่งยืน หรือ Sustainable Architecture ที่นับจากนี้ไป แนวคิดแบบนี้คงได้ยินและได้เห็นบ่อยขึ้นในช่วงอายุของพวกเรา… ซึ่งงานสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และมีการเน้นการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของธรรมชาติ… มีเป้าหมายในการออกแบบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด… สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ซึ่งมีการออกแบบสถาปัตยกรรมทำให้เกิดความสมดุลขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เกิดเป็นแนวคิดของสถาปัตยกรรมยั่งยืน โดยการอิงหลักคิดดังต่อไปนี้คือ

1. Ecological concern เคารพในที่ตั้ง รักษาแผ่นดินและพืชพรรณ
2. Climate concern คำนึงถึงสภาพอากาศในท้องถิ่น ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศ
3. Energy Efficiency การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน
4. User Concern คำนึงถึงความสบายของผู้ใช้อาคารปลอดมลภาวะทางเสียงและทัศนียภาพ
5. Material Efficiency ใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ไม่ใช้วัสดุที่เป็นพิษต่อผู้อาศัย
6. Water Efficiency ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพไม่สร้างมลภาวะทางน้ำ

หลักการที่นำไปสู่สถาปัตยกรรมยั่งยืน 2 วิธี คือ
1. Nature – Driven Technologies เป็นการพึ่งพาธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม โดยนำเทคโนโลยีเครื่องกลมาใช้ให้น้อยที่สุด เน้นการพึ่งพาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้มากที่สุด สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.1 การป้องกันแสงแดดและใช้ประโยชน์จากกระแสลม โดยการอาศัยต้นไม้ อุปกรณ์บังแสงแดด และการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมทิศทางกระแสลม
1.2 การอาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
1.3 การใช้ฉนวนเพื่อป้องกันความร้อนถ่ายเทเข้าสู่อาคาร ทั้งผนังและหลังคา
1.4 การนำแหล่งพลังงานที่มีอยู่มาใช้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
1.5 การหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ กักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมารดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้านเรือน
1.6 การนำลมธรรมชาติมาช่วยถ่ายเทอากาศภายในอาคารให้บริสุทธิ์ขึ้น และการใช้ต้นไม้ช่วยกรองฝุ่นละอองและดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในเวลากลางวัน
2. Technology – Driven Strategies เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยดัดแปลงให้เหมาะสมเพื่อประหยัดพลังงาน สามารถแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
2.1 การคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่เพื่อเอื้อประโยชน์ในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนลดการสิ้นเปลืองพลังงานในการเดินทางและติดต่อ
2.2 การควบคุมแสงสว่างที่ใช้ในอาคารให้เหมาะสม โดยการอาศัยมนุษย์และอุปกรณ์กล
2.3 การใช้วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาวัสดุธรรมชาติ อาทิ วัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณภาพ
2.4 การให้ความร้อนและเย็นภายในอาคาร โดยการนำพลังงานจากสภาวะแวดล้อมมาใช้
2.5 เป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดพลังงานในการจัดเก็บและทำลาย
การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. Building Ecology การปรับเปลี่ยนและเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีผลข้างเคียง รวมไปถึงระบบระบายอากาศทั้งแบบธรรมชาติและระบบเครื่องจักรกลสามารถออกแบบให้มีการหมุนเวียนเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในอาคารมากที่สุดและลดภาวะที่จะทำให้เกิดเชื้อราหรือความเหม็นอับให้น้อยที่สุด
2. Energy Efficiency การออกแบบให้อาคารใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติ ลดภาระการผลิตพลังงาน ทั้งยังเป็นรักษาพลังงานไว้ใช้ในยามจำเป็น อาทิ การใช้ Thermal Mass ของอาคารเพื่อเก็บหรือระบายความร้อน การใช้ระบบฉนวนให้เหมาะสมกับการใช้งาน การใช้ระบบควบคุมการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือระบบทำความเย็น
3. Materials วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบางชนิดอาจจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม้บางชนิดได้มาจากการตัดไม้ในป่าที่ไม่สามารถปลูกทดแทนได้ วัสดุบางอย่างได้มาโดยกระบวนการที่สร้างมลภาวะ หรือสร้างสารพิษออกมาในขั้นตอนการแปรรูป ดังนั้นควรใช้วัสดุที่ผลิตมาจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการผลิต โดยมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตน้อยที่สุด
4. Building Form รูปทรงของอาคารควรคำนึงต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ต้นไม้ หรือสภาพอากาศโดยรอบ ให้เอื้อต่อการหมุนเวียนของการวัสดุ ทรัพยากร ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในอาคาร เพิ่มความน่าอยู่ให้แก่ผู้ใช้ และมีความปลอดภัย
5. Good Design การออกแบบที่ดีต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา อาทิ อาคารที่คงทนถาวร ง่ายต่อการใช้ สามารถนำเอาวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมทั้งมีความสวยงาม มีความต้องการพลังงานน้อยลง ซ่อมบำรุง ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อแนวความคิดของสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน

ในระยะยาวการออกแบบเพื่อความยั่งยืนมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการทำลายและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด พร้อมทั้งเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดี เพื่อสร้างจิตสำนึกในการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมให้เกิดแก่สังคม
คัดลอกเนื้อหาส่วนใหญ่จาก… https://alliancees.org ครับ!