ยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic หรือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของยาต้านจุลชีพ หรือ Antimicrobial Drugs ซึ่งเป็นยาที่ถูกใช้ในการรักษา และ ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยออกฤทธิ์ฆ่า หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้
ก่อนที่นักจุลชีววิทยาทั่วโลกจะใช้คำว่า Antibiotic เพื่อนิยามปรากฏการณ์การออกฤทธิ์ต้านเซลล์สิ่งมีชีวิตของกลุ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีบันทึกยืนยันว่า… นักจุลชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ Selman Waksman หรือ เซลมัน แวกส์มัน เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “Antibiotic” แทนคำว่า “Antibiosis หรือ ต่อต้านชีวิต” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ถูกใช้อธิบายปรากฏการณ์การออกฤทธิ์ต้านเซลล์สิ่งมีชีวิตของ “ยาปฏิชีวนะ” ที่ถูกค้นพบในช่วงแรกโดยนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศสอย่าง Jean Paul Vuillemin หรือ ฌอง ปอล วูยล์ลีแม็ง มาก่อน และ ถูกใช้โดย Louis Pasteur หรือ หลุยส์ ปาสเตอร์ ใช้อธิบายปรากฏการณ์การเกิด “Antibiosis” ในแบคทีเรียในปี 1877… ต่อมา Robert Koch หรือ โรเบิร์ต คอค ซึ่งพบว่าแบคทีเรียสกุลบาซิลลัส หรือ Bacillusในอากาศสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Bacillus Anthracis ได้…
คำว่า “Antibiotic” ปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ที่เผยแพร่ในปี 1942 ของ Selman Waksman และคณะเพื่อใช้นิยามถึง… สารที่มีความเจือจางสูงชนิดใดๆ ที่จุลชีพสายพันธุ์หนึ่งๆ สร้างขึ้นเพื่อต่อต้าน หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพสายพันธุ์อื่น… คำว่า “Antibiotic” ในนิยามแรกจึงไม่ใช้เพื่อนิยามสารที่ออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยจุลชีพ เช่น น้ำย่อย และ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์… รวมทั้งสารประกอบที่สังเคราะห์เลียนแบบสารที่ได้จากแบคทีเรีย เช่น ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์… แต่นิยามความหมายของคำว่า “Antibiotic หรือ ยาปฏิชีวนะ” ในปัจจุบันจะหมายความรวมไปถึงยาใดๆ ที่ออกฤทธิ์ฆ่า หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งหมด ไม่ว่ายานั้นๆ จะถูกสร้างจากจุลชีพหรือไม่ก็ตาม
ประเด็นก็คือ… นับตั้งแต่การค้นพบของ Jean Paul Vuillemin… Louis Pasteur รวมทั้งการค้นพบของ Alexander Fleming หรือ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ ปี 1945 จากการค้นพบยาเพนนิซิลิน… ชีวิตผู้คนก็ปลอดภัยกว่าเดิมเมื่อการตายจากเชื้อโรคถูกจัดการด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่ง “Antibiotic หรือ ยาปฏิชีวนะ” ได้กลายเป็นยาที่ถูกใช้เพื่อการรักษา และ สนับสนุนวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงอื่นๆ อย่างสำคัญ โดยพบการใช้ “Antibiotic หรือ ยาปฏิชีวนะ” ตั้งแต่การรักษาสิวอักเสบ ไปจนถึงการใช้สนับสนุนการผ่าตัดใหญ่เพื่อยับยั้งการติดเชื้อระหว่างรอแผลผ่าตัดหาย…
แต่ต่อมา… วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้พบ “เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ หรือ Superbugs” ที่ “Antibiotic หรือ ยาปฏิชีวนะ” แบบที่เคยใช้ได้ผลมานานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ หรือ Superbugs ถูกยกระดับเป็นภัยคุกคามมนุษย์อีกครั้ง โดยมี WHO เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวเพื่อหาแนวทางจัดการเชื้อดื้อยาที่พบทั่วโลก
สอดคล้องกับรายงานของ The Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย… ซึ่งพบอุบัติการณ์การติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยชาวอเมริกันราว 2,000,000 คนในแต่ละปี… โดยมีการเสียชีวิตเพราะติดเชื้อดื้อยากว่า 23,000 คน ในขณะที่ผู้รอดชีวิตหลังติดเชื้อก็มีค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษาสูงมากทีเดียว
ข้อมูลจาก ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อธิบายว่า… สาเหตุของการรับเชื้อดื้อยามีด้วยกันหลายแบบ เช่น การรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยครั้ง และ เป็นจำนวนมาก การใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรงเกินจำเป็น รวมถึงการรับประทานยาที่ไม่ต่อเนื่อง จนไม่สามารถจำกัดเชื้อได้ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา… นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะ หรือ เชื้อดื้อยาปนเปื้อนด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ… มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 10 ล้านคน หรือทุกๆ 3 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาที่ไหนสักแห่งบนโลก… ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทย ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน โดยรายงานว่า… คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 100,000 คนต่อปี และ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และ ทางอ้อมมากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปีด้วย
References…