กระแสการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดการออกแบบ โดยส่วนตัวคิดว่า การแก้ปัญหาด้วยหลักการออกแบบไม่ใช่กระแสมานานแล้ว และเชื่อว่าเป็นทางเดียวของการเริ่มต้นแคะปัญหาน้อยใหญ่ ออกมาแยกส่วนจัดการอย่างสร้างสรรค์ และใช้เทคนิคเชิงออกแบบสร้างสมดุลย์ใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเหตุปัจจัยมากมาย
ปัญหาเรื่องฝนตกน้ำท่วม ฝนขาดน้ำแล้ง เป็นปัญหาทั่วโลกที่สะท้อนว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตบนบก รู้จักและจัดการน้ำได้น้อยมาก ทั้งที่รกรากตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก็เกิดและเติบโตบนดาวแห่งน้ำ… ดาวดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีน้ำมากมายให้มนุษย์ก่อเกิดและอาศัย
ในเมืองใหญ่ทั่วโลก… สิ่งก่อสร้างและนวัตกรรมเพื่อการระบายน้ำและบังคับทิศทางน้ำ ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญหนทางเดียว ที่มนุษย์หาทางออกให้ปริมาณน้ำส่วนเกิน ได้ไหลพ้นไปจากวิถีชีวิตและชุมชน มาตั้งแต่โบราณ ซึ่งถ้ามองจากมุมการพัฒนานวัตกรรม ต้องถือว่า… ไม่มีอะไรใหม่มานานหลายร้อยปี เหมือนๆ กันทั่วโลก
ในเมืองไทย… ผู้นำในการออกแบบผลักดันและเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการน้ำมาตลอด คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานเรื่องน้ำทุกมิติ ทั้งบ่อ คลอง เขื่อน อ่างและแก้มลิง… ซึ่งคนที่เข้าใจงานที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มไว้ จะทราบถึงแนวคิดเบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ของการจับปัญหาน้ำมาหาทางจัดการด้วยองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่แนวทางหนึ่งของโลกทีเดียว
กรณี “แก้มลิง” และแนวทาง Sustainable Drainage Systems หรือ SUDS หรือระบบระบายน้ำแบบยั่งยืน จนนำมาซึ่งการออกแบบเมืองให้เป็น Sponge City หรือ เมืองซับน้ำ หรือ ออกแบบเมืองให้เป็นเหมือนฟองนำเพื่อรับมือกับความมั่นคงเรื่องน้ำของชุมชนเมือง
เอกสารชื่อ Berlin, Germany: Sponge City- Preparing for a hotter climate เผยแพร่โดย EC Link หรือ Europe-China Link นำเสนอแนวคิด Sponge City และ Re-green ในพื้นที่เมืองหลวงของเยอรมัน ที่ผลักดันจริงจังแล้วในปัจจุบัน
Dr. Yu Kongjian จาก College of Architecture and Landscape Architecture ในสังกัด Peking University ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่พัฒนาองค์ความรู้เรื่อง Sponge City และแนวคิด Synthesising Modern Water Management Systems หรือ ระบบสังเคราะห์น้ำยุคใหม่ ซึ่งก็คือการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการกักเก็บและใช้น้ำอย่างยั่งยืนทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการอยู่อาศัย… และรัฐบาลสิงคโปร์เชิญ Dr. Yu Kongjian เข้าร่วมการออกแบบ Singapore Sponge Cities ในนาม Turenscape ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทเอกชนในกำกับของ College of Architecture and Landscape Architecture
สิ่งที่น่าสนใจในแนวคิด Sponge City คือหลักบูรณาการเชิงนิเวศน์ที่คิดจนครบวงจร และออกแบบให้ทุกหน่วยในวงจร เอื้อประโยชน์สูงสุดบนหลักยั่งยืนทั้งกับภายในวงจรเอง และระหว่างวงจร
ในขั้นนี้ผมยังค้นงานออกแบบตามหลักคิด Sponge City ได้เพียงเล็กน้อยเพราะแนวคิดนี้เป็นเรื่องใหม่ และเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมและโยธา ซึ่งพื้นฐานและเครือข่ายผมมีน้อยจนทำได้เท่าที่ค้นเจอในอินเตอร์เน็ต… แต่อีกไม่นานข้อมูลระดับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องคงมีตีพิมพ์เผยแพร่กว่าปัจจุบัน… และผมคงได้เจาะเอามาเล่าเพิ่มเติมในอนาคต
อ้างอิง