การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home และ การทำงานทางไกล หรือ Remote Work… โดยผู้ที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 7.9% ของผู้ที่มีงานทำทั่วโลกในช่วงก่อนโควิด เป็น 17.4% ในช่วงไตรมาสสองของปี 2020
ในสหรัฐอเมริกา… กลุ่มที่ทำงานทางไกลมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง แม้ว่าภายหลังสถานการณ์ของโควิดได้คลี่คลายลง และ แรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปทำงานตามปกติ… แต่คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะทำงานทางไกลต่อไป โดยองค์กรเอกชนจำนวนมากอนุญาตให้พนักงานของตนทำงานแบบยืดหยุ่น โดยทำงานทางไกลได้ หรือ ทำงานในลักษณะผสม หรือ Hybrid ที่ต้องเข้าออฟฟิศในบางเวลา… ด้วยเหตุนี้ แรงงานทักษะสูงจำนวนมากได้ผันตนเองมาเป็นดิจิทัลโนแมดที่เดินทางไปพักอาศัย และ ทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ และ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะๆ
ดิจิทัลโนแมด หรือ Digital Nomad เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 และ แพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากนั้น เพื่อเรียกผู้ย้ายถิ่นที่มีวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และ ไม่ยึดติดกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ Location-Independent โดยการทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เทคโนโลยีการประชุมทางไกล และ ใช้ฮาร์ดแวร์ กับ ซอฟต์แวร์เพื่อส่งมอบบริการผ่านเครือข่ายการประมวลผลแบบคลาวด์ หรือ Cloud Computing ในระบบออนไลน์ไปยังผู้ว่าจ้าง โดยทั่วไปดิจิทัลโนแมดจะแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติ หรือ Migrant Workers เนื่องจากไม่ได้ทำงานหารายได้ในสถานที่ที่ตนอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ แต่มีรายได้จากนายจ้างในต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการทำงานทางไกล หรือ Remote Work เช่น การ Work From Home หรือ การทำงานในต่างประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น โดยอาจเป็นพนักงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance ซึ่งรับงานจากผู้ว่าจ้างหลายรายก็ได้… นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมดยังอาจเป็นผู้ประกอบการในลักษณะธุรกิจสตาร์ทอัพก็ได้ โดยดิจิทัลโนแมดมักเป็นคนหนุ่มสาวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการทำงานทางไกล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า… กลุ่มดิจิทัลโนแมดได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาทดแทนการผลิตในรูปแบบเก่า ทำให้ธุรกิจในโลกยุคใหม่สามารถขับเคลื่อนได้บนโลกออนไลน์ โดยเชื่อมโยงผู้ที่ทำงานทางไกล หรือ Remote Workers จากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน
การเติบโตอย่างรวดเร็วของดิจิทัลโนแมดซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อีกทั้งนิยมพักอาศัยในแต่ละประเทศเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้เป็นกลุ่มผู้ย้ายถิ่นที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวระยะยาว หรือ Long-Stay Tourist และ แรงงานที่มีทักษะต่างชาติ หรือ Foreign Talent ที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และ อาจเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ทำให้บางประเทศออกวีซ่าพิเศษสำหรับกลุ่มดิจิทัลโนแมด หรือ Specific Visas For Digital Nomads หรือ DNVs เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคคลดังกล่าว… โดยมีกรณีของประเทศเอสโตเนียไดริเริ่มวีซ่าดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2020 ตามด้วยคอสตาริกา กับ กรีกในปี 2021 และ ฮังการีในปี 2022 จากนั้น หลายประเทศก็ได้แข่งกันออก DNVs จนถึงเดือนมิถุนายน 2022 มีราว 25 ประเทศได้ริเริ่ม DNVs ของตนเอง และ เพิ่มขึ้นเป็น 49 ประเทศในเดือนตุลาคม 2022… รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
นอกจากนโยบายเรื่องวีซ่าแล้ว บางประเทศยังมีนโยบายสร้างชุมชนดิจิทัลโนแมดในประเทศตน ด้วยแรงจูงใจต่างๆ เช่น ที่พักอาศัยในราคาที่เหมาะสม Coworking Office ผู้จัดการชุมชนมืออาชีพ กิจกรรมและการสัมมนาต่างๆ ส่วนลดสำหรับสินค้าและบริการจากธุรกิจท้องถิ่น และ โครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม เช่นกรณีของ Zadar Valley ในประเทศโครเอเชีย ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นหมู่บ้านดิจิทัลโนแมดแห่งแรกของโลก
เรียบเรียงจากบทความตีพิมพ์บนวารสารประชากรและการพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ บทความจาก MGRonline.com และ ครับ
References…