การเดินทางขึ้นอวกาศออกไปอยู่นอกแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่มีน้ำ ไม่มีอากาศและไม่มีอาหาร ซึ่งการขาดทั้ง 3 สิ่งหมายถึงรอดยากแล้วสำหรับชีวิต… แต่มนุษย์ก็หาทางออกให้ฝันชิ้นใหญ่ว่าด้วยการผจญภัยทั่วจักรวาลทั้งท่องเที่ยว อพยพและแสวงหาทรัพยากร รวมทั้งคำตอบดำมืดมากมายที่มนุษย์กลายเป็นธุลีละอองเล็กๆ ของจักรวาลเท่านั้นเอง
การค้นคว้าวิจัยส่วนที่เกี่ยวกับน้ำ อากาศและอาหารสำหรับนักท่องอวกาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งไม่ต่างจากเทคโนโลยีการสื่อสาร ขนส่งและเทคโนโลยีแขนงอื่นๆ
ปี 1962… John Glenn นักบินอวกาศ Project Mercury… ถือเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้กินอาหารในอวกาศ บนยาน Mercury Friendship 7… ก่อนที่โครงการเหยียบดวงจันทร์ของ NASA จะเดินหน้าประกาศความยิ่งใหญ่ของสติปัญญาเผ่าพันธ์มนุษย์โลกหลายปี
เที่ยวบินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1962
นับจากจอห์น เกลน นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐ ที่เดินทางไปกับจรวดในภารกิจอวกาศมาจนถึงเหล่านักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติในทุกวันนี้ งานค้นคว้าวิจัยด้านโภชนาการสำหรับโครงการอวกาศพัฒนามาจนถึงจุดที่ นักบินอวกาศมีอาหารที่มีรสชาติถูกปาก บรรจุในหีบห่อที่สะดวกในการรับประทาน
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเตรียมอาหารอวกาศ เราต้องนึกย้อนไปถึงนักสำรวจในยุคอดีตที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ขณะเดินทางไกลทั้งทางบกและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกอาหารให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ อาหารต้องพร้อมที่จะรับประทานได้อยู่เสมอตลอดการเดินทาง และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดวิตามิน
ในต้นยุคประวัติศาสตร์… มนุษย์ค้นพบเทคนิคการถนอมอาหารด้วยการทำให้แห้งและเก็บในภาชนะที่แห้งและเย็น การขจัดน้ำออกจากอาหาร ทำโดยการแล่เนื้อ ปลา และผลไม้บางชนิดออกเป็นแผ่นบางแล้วนำไปผึ่งแดด นอกจากนี้ก็มีการถนอมอาหารโดยการดองด้วยการคลุกกับเกลือหรือแช่ในน้ำเกลือ
เทคนิคและวิธีการถนอมอาหารในยุคต่อมา มีพัฒนาการต่อมาเป็นการเก็บอาหารในภาชนะปิดสนิท การพาสเจอร์ไรส์ หรือ การใช้ความร้อนทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในอาหารได้ และ การบรรจุลงในกระป๋อง ทำให้ปัจจุบันมีอาหารหลายชนิดที่สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน เทคโนโลยีล่าสุดในการถนอมอาหาร คือ การแช่เย็น และ การแช่แข็งอย่างฉับพลัน หรือ Quick Freezing ซึ่งทำให้สามารถคงสภาพของรสชาติและสารอาหารอยู่ได้
รูปแบบการถนอมและการบรรจุอาหารดังกล่าว… ใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพสำหรับเราๆ ท่านๆ บนพื้นโลกเท่านั้น… แต่ยังไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการใช้งานในอวกาศ ซึ่งมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องคำนึงถึงในขั้นตอนการขนส่ง คือ น้ำหนักและปริมาตร นอกจากนั้นอุปสรรคที่ใหญ่กว่า คือ สภาวะไร้น้ำหนัก หรือ สภาวะความโน้มถ่วงต่ำ… จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพิเศษในการเตรียมอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา
อาหารในโครงการเจมินี หรือ Project Gemini
อาหารอวกาศมีการพัฒนารูปแบบไปมากใน Project Gemini ระหว่างปี 1961–1966… มีความความหลากหลายของอาหารและบรรจุภัณฑ์ มีกระบวนการขจัดน้ำออกจากอาหาร ทำให้อาหารอวกาศในยุคนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารสด ทั้งสีและรสชาติ เช่น น้ำองุ่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิล ขนมปังปิ้ง ช็อกโกแลต ซุปไก่ เนื้อตุ๋น ข้าว ไก่งวงและน้ำเกรวี
การขจัดน้ำออกจากอาหารเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ที่สามารถเกิดขึ้นเองได้สำหรับคนในประเทศเขตร้อน แต่ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นต้องอาศัยกระบวนการที่เรียกว่า Freeze Drying หรือ การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นการใช้ความเย็นทำให้น้ำในอาหารเป็นน้ำแข็ง และใช้ความดันระเหิดเกล็ดน้ำแข็งออกจากอาหารทันที… เนื่องจากมีเพียงน้ำเท่านั้นที่ออกมาจากอาหาร อาหารแช่แข็งที่ได้ จึงยังคงมีไขมันและรสชาติเช่นเดิม โดยเนื้อของอาหารจะมีรูพรุนขนาดเล็ก ที่เดิมเป็นที่อยู่ของน้ำ และสามารถดูดซึมน้ำที่นักบินจะฉีดเข้าไปผสมก่อนรับประทานในอวกาศได้ทันที
อาหารอวกาศที่ผ่านขั้นตอนการทำแห้งเยือกแข็ง มีประโยชน์ คือ ช่วยลดน้ำหนักบรรทุกของอาหารลงเนื่องจากน้ำถูกขจัดออกไป ทำให้อาหารมีอายุยาวนานขึ้น และสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังมีรสชาติและลักษณะภายนอกละม้ายคล้ายคลึงกับอาหารสด เมื่อการบินในอวกาศใช้เวลานานขึ้น สิ่งที่นาซาต้องคำนึงถึงอีกอย่าง คือ สารอาหารที่นักบินควรจะได้รับ นักบินแต่ละคนจะได้รับอาหารประมาณ 0.58 กิโลกรัมต่อวัน มีการวางแผนเมนูอาหารล่วงหน้า โดยเมนูจะวนมาซ้ำเดิมทุกๆ 4 วัน
อาหารในโครงการอะพอลโล หรือ Project Apollo หรือ Apollo Program
โครงการอะพอลโลใช้รูปแบบการบรรจุอาหารอวกาศในภาชนะแบบเดียวกับ Project Gemini แต่มีความหลากหลายของชนิดอาหารให้นักบินอวกาศมีโอกาสได้เลือกรับประทานมากขึ้น อาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบที่ต้องเติมน้ำก่อนรับประทาน ถูกบรรจุในถุงพลาสติกอัดความดัน… ก่อนรับประทานต้องเติมน้ำอุ่นด้วยกระบอกฉีดผ่านช่องที่ก้นถุง เมื่ออาหารได้รับน้ำ ปากถุงจะเปิดออก รับประทานโดยการใช้ช้อนตัก อาหารที่มีลักษณะกึ่งเหลวจะติดอยู่กับช้อน เวลาทานให้ความรู้สึกคล้ายกับรับประทานอาหารบนพื้นโลก
บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารอวกาศแบบใหม่ ที่นำมาใช้ในโครงการอะพอลโลเป็นถุงอาหารที่ไม่ต้องเติมน้ำอย่างแต่ก่อน เพราะมีน้ำบรรจุอยู่แล้ว แบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกเป็นถุงพลาสติกหุ้มด้วยแผ่นอะลูมิเนียม อย่างที่สองเป็นอาหารกระป๋องคล้ายกับที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน… ข้อเสียของอาหารกระป๋อง คือ กระป๋องเปล่ามีน้ำหนักมากกว่าอาหารที่บรรจุอยู่ภายในถึง 4 เท่า
รูปแบบการบรรจุอาหารแบบใหม่นี้ ทำให้นักบินของโครงการอะพอลโลสามารถเห็นและได้กลิ่นอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนในการรับประทานอาหารในอวกาศได้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ทำให้นักบินอวกาศมีความสุขกับการรับประทานมากกว่าแต่ก่อนที่ต้องดูดกินจากหลอดบรรจุอาหาร
ภารกิจของโครงการอะพอลโลที่มีเป้าหมายส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการออกแบบอาหารอวกาศ บรรจุภัณฑ์แบบที่ใช้ใน Project Mercury ถูกนำมาใช้ใหม่เพื่อเป็นระบบอาหารสำรอง มีเครื่องดื่มและอาหารหลายชนิดที่นักบินในยุคนั้นสามารถรับประทานในอวกาศได้ เช่น กาแฟ เนื้อหมูอบ คอร์นเฟล็กซ์ ไข่เจียว ขนมปังกรอบ แซนด์วิช ขนมพุดดิ้ง สลัดทูน่า เนยผสมถั่วลิสงบด เนื้อวัวตุ๋นในน้ำมัน สปาเกตตี และไส้กรอก
อาหารในโครงการสกายแล็บ หรือ Skylab
สกายแล็บเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐ… สถานีมีน้ำหนัก 75 ตัน อยู่ในวงโคจรรอบโลกระหว่างปี 1973-1979 มีนักบินไปเยือน 3 ครั้ง ในช่วงปี 1973-1974 มีความเสียหายเกิดขึ้นกับแผงกันสะเก็ดดาวและแผงโซลาร์เซลล์ขณะส่งยาน ทำให้นักบินชุดแรกต้องขึ้นไปซ่อมสถานีในเดือนพฤษภาคม 1973 นักบินชุดสุดท้ายกลับสู่โลกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1974 โดยสถานีอวกาศสกายแล็บค่อยๆ ดิ่งลงจนตกสู่บรรยากาศโลกในวันที่ 11 กรกฎาคม 1979
การรับประทานอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บแตกต่างจากการรับประทานอาหารบนยานอวกาศในโครงการอื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสกายแล็บเป็นสถานีอวกาศที่มีตู้เย็น มีเครื่องแช่แข็ง ถาดอุ่นอาหาร และโต๊ะ เวลาพักรับประทานอาหารบนสกายแล็บจึงให้ความรู้สึกคล้ายกับการรับประทานอาหารที่บ้าน เมื่อเทียบกันแล้วความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างการทานอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บกับที่บ้าน คือ สภาพแวดล้อมที่มีความโน้มถ่วงต่ำ
เสบียงอาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บออกแบบไว้สำหรับนักบินอวกาศ 3 คน ในภารกิจที่ยาวนานประมาณ 112 วัน เมนูอาหารออกแบบสำหรับนักบินแต่ละคนโดยเฉพาะ โดยมีการคำนวณความต้องการสารอาหารของแต่ละคนซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และกิจกรรมที่ทำบนยาน
อาหารบนสถานีอวกาศสกายแล็บบรรจุในภาชนะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ก่อนรับประทานนักบินต้องนำอาหารไปอุ่นบนถาดอุ่นอาหาร แต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู พริก มันฝรั่ง สเต๊ก หน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งไอศกรีม
โครงการอะพอลโล-โซยุซ หรือ Apollo – Soyuz
Project Apollo – Soyuz เป็นโครงการความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสหรัฐอเมริกา และโซเวียต ในกิจการอวกาศ… มีการเชื่อมต่อกันระหว่างยานอวกาศของ 2 ชาติในวงโคจรรอบโลก เกิดขึ้นในวันที่ 17 เดือนกรกฎาคม ปี 1975 ระหว่างยาน Apollo 18 กับยาน Soyuz 9 และ เป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานอวกาศในโครงการอะพอลโล ซึ่งยานใน Project Apollo ลำสุดท้ายที่ไปลงดวงจันทร์ คือ Apollo 17
ยาน Apollo 18 ของสหรัฐอเมริกามีนักบิน 3 คน ขณะที่ยานโซยุซของโซเวียตมีนักบิน 2 คน ยานทั้งสองขึ้นจากพื้นโลกในวันที่ 15 กรกฎาคม เข้าเชื่อมต่อกันในวันที่ 17 กรกฎาคม… โดย Thomas P. Stafford และ Alexei Leonov นักบินจากสองชาติ จับมือกันกลางอวกาศเป็นครั้งแรก ยานทั้งสองลำเชื่อมต่อกันนานเกือบ 2 วัน มีการแลกเปลี่ยนธงชาติและของที่ระลึก รับประทานอาหารร่วมกัน และ ทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันหลายอย่าง ก่อนจะแยกจากกันในวันที่ 19 กรกฎาคม 1975
อาหารอวกาศในโครงการนี้เป็นอาหารแบบเดียวกับที่ใช้ในโครงการอะพอลโลและสกายแล็บ อาหารอวกาศของรัสเซียเป็นอาหารกระป๋องและอาหารที่ใส่ในหลอดอะลูมิเนียม ยานของแต่ละชาติมีเครื่องอุ่นอาหารขนาดเล็ก เมนูอาหารจัดไว้เฉพาะสำหรับนักบินแต่ละคน โดยทั่วไปแต่ละมื้อประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ขนมปัง เนยแข็ง ซุป ผลไม้แห้ง ถั่ว กาแฟ และขนมเค้ก
โครงการกระสวยอวกาศ หรือ Space Shuttle Program
กระสวยอวกาศขององค์การนาซาหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าระบบขนส่งอวกาศ หรือ Space Transportation System หรือ STS… เป็นยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมโครงการแรกของโลก ที่สามารถนำบางส่วนของยานกลับมาใช้งานใหม่ได้ สามารถบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากขึ้นไปในวงโคจรรอบโลก ภารกิจสำคัญที่ผ่านมา เช่น การกู้ดาวเทียมที่หมดอายุกลับมายังโลก การรับ-ส่งนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล รวมทั้งการทดลองต่างๆ ในอวกาศ
โครงการกระสวยอวกาศเริ่มต้นขึ้นในปลายยุค 1960 และมีบทบาทสำคัญในภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมตลอดมา กระสวยลำแรกที่ใช้ทดสอบการบินและการร่อนลงจอดในโครงการนี้มีชื่อว่าคอนสติทิวชัน หรือ Constitution ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Enterprise ตามคำเรียกร้องของบรรดาแฟนภาพยนต์ซีรีส์สตาร์เทร็ก หรือ Star Trek
ต่อมานาซาจึงสร้างกระสวยอวกาศ 5 ลำที่ใช้งานได้จริง ทะยอยออกมาในระหว่างปี 1979-1991 ได้แก่ กระสวยอวกาศโคลัมเบีย หรือ Columbia… กระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ หรือ Challenger… กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี หรือ Discovery… กระสวยอวกาศแอตแลนติส หรือ Atlantis… และกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ หรือ Endeavour… ในจำนวนนี้มี 2 ลำที่ระเบิดเสียหายขณะเดินทางอยู่เหนือพื้นโลก คือ กระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์และกระสวยอวกาศโคลัมเบีย แต่อุบัติเหตุการระเบิดของกระสวยอวกาศโคลัมเบียเมื่อต้นปี 2003 ก็ทำให้โครงการอวกาศของสหรัฐล่าช้า จนมีเอกชนเกิดขึ้นในระนิเวศน์การขนส่งขึ้นอวกาศจนถึงปัจจุบัน
กระสวยอวกาศสามารถรองรับนักบินได้ 10 คน แต่โดยมากแต่ละครั้งจะมีนักบิน 5-7 คน นักบินบนกระสวยอวกาศมีเมนูอาหารให้เลือกถึง 74 ชนิด เครื่องดื่มอีก 20 ประเภท การเพิ่มขึ้นของเมนูอาหารในโครงการกระสวยอวกาศนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากมีนักบินอวกาศที่เดินทางไปกับกระสวยอวกาศจำนวนมากขึ้น นาซาเองก็มีกำหนดการที่แน่นอนในการส่งกระสวยอวกาศแต่ละลำขึ้นไปปฏิบัติภารกิจล่วงหน้า
นักบินอวกาศแต่ละคนสามารถเลือกหรือออกแบบมื้ออาหารได้เอง ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย อาหารแต่ละมื้อบนกระสวยอวกาศจะมีการตระเตรียมภายในห้องครัว มีท่อน้ำและเตาอบ ท่อน้ำสามารถจ่ายน้ำร้อน น้ำอุ่น และน้ำเย็น สำหรับเติมน้ำให้กับอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ผ่านการอบแห้งมาจากพื้นโลก
เตาอบที่ใช้บนกระสวยอวกาศเป็นเตาอบที่อาศัยกระบวนการพาความร้อน อาหารมื้อหนึ่งสำหรับนักบิน 4 คน จะใช้เวลาในการเตรียมเพียง 5 นาที แต่หากต้องมีการอุ่นอาหารอาจใช้เวลา 20-30 นาที ถาดใส่อาหารจะทำหน้าที่เป็นจานอาหารไปในตัว เวลารับประทานนักบินจะใช้เข็มขัดผูกติดกับที่นั่ง เครื่องมือที่ใช้ก็เหมือนกับการรับประทานอาหารบนโลก คือ มีด ช้อน และส้อม แต่ที่ขาดไม่ได้คือกรรไกร! สำหรับตัดปากถุงบรรจุอาหารนั่นเอง
นอกจากอาหาร สิ่งที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็มีการพัฒนาจากเดิมเพื่อลดน้ำหนักและปริมาตรของสัมภาระที่เป็นเสบียง เช่น มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มขึ้นใหม่ ในปี 1991 นาซาหันไปใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก มีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังออกแบบเครื่องอัดขยะเพื่อลดปริมาตรของขยะลงด้วย
สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station
สถานีอวกาศนานาชาติกำเนิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของสถานีอวกาศสกายแล็บของสหรัฐฯ และสถานีอวกาศมีร์ของรัสเซีย เป็นโครงการร่วมกันระหว่างแคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐฯ นับจากเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน มีนักบินอวกาศสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีคราวหนึ่งอย่างน้อย 2 คน ส่วนใหญ่เป็นนักบินอเมริกันและรัสเซีย บางคราวก็มีนักบินจากชาติอื่นๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวอีก 2 คน
ปัจจุบันสถานีอวกาศยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ อุบัติเหตุที่เกิดกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียทำให้แทบทุกอย่างหยุดชะงักลง โมดูลส่วนอื่นๆ ที่ต้องนำขึ้นไปเชื่อมต่อล้วนมีน้ำหนักมาก ขณะนี้สถานีอวกาศนานาชาติโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 355-367 กิโลเมตร วนรอบโลกครบหนึ่งรอบในเวลาประมาณ 92 นาที
กระสวยอากาศใช้เซลล์เชื้อเพลิงให้พลังงานไฟฟ้าโดยมีน้ำเป็นผลพลอยได้ ซึ่งนำไปใช้ในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักบินอวกาศ แต่บนสถานีอวกาศนานาชาติ พลังงานไฟฟ้าสร้างขึ้นจากแผงเซลล์สุริยะ จึงไม่มีน้ำเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ น้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากหลายแหล่งแต่ไม่เพียงพอสำหรับในมาใช้ในอาหาร ดังนั้นอาหารที่ใช้บนสถานีอวกาศจึงเป็นอาหารแช่แข็ง หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการคงอุณหภูมิมาแล้ว คือ ผ่านกระบวนการทางความร้อน นำมาบรรจุกระป๋อง และเก็บที่อุณหภูมิห้อง ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำผสมก่อนบริโภค
ประเด็นเรื่องอาหารที่ผมพาย้อนกลับไป 4-50 ปีแถมออกนอกโลกไปอีกต่างหากก็เพราะว่า… เทคโนโลยีอาหารมากมาย ต่อยอดจากสิ่งที่นักบินอวกาศ จำเป็นจะต้องพกเสบียงเดินทางออกนอกโลกให้เพียงพอ… ซึ่งไม่ว่าจะเรียกว่าถนอมอาหาร… แปรรูปอาหาร… หรือเทคโนโลยีอาหาร ทั้งหมดล้วนพามนุษย์พัฒนาเรื่องอาหารการกินไปไกลกว่าความเคยชินเดิมๆ แน่นอน
ที่จะบอกก็คือ นวัตกรรมอาหารยังมีที่ว่างมากมายในวันที่ธุรกิจบริการอาหารในที่… ยังมีโจทย์ท้าทายในมุม Hospitality Food Services อยู่อีกมาก… ซึ่งโจทย์การพัฒนานวัตกรรมแบบที่ออกจากความธรรมดา อย่างเช่นมนุษย์ไปดวงจันทร์จะกินยังไง ถือเป็นวิธีคิดหาคำตอบของหลายท่านที่กำลังเลือกหนทางว่าจะคลำทางตามแสงระยิบทิศไหนออกจากความมืด

ให้ดาวส่องแสงนำทางดูหน่อยมั๊ยครับ เพราะโลกนี้คงต้องมีกิจการบริการอาหารในอวกาศในเร็ววันนี้ค่อนข้างแน่… ซึ่งอาจเป็นท่านก็ได้ที่เป็นคนแรก!
คัดและเรียบเรียงจาก วารสารทางช้างเผือก ฉบับกุมภาพันธ์ 2548 และ สำเนาเวบไซต์ http://thaiastro.nectec.or.th/library
อ้างอิง
- https://science.howstuffworks.com/space-food4.htm
- https://www.bbc.com/news/world-50277680
- https://io9.gizmodo.com/what-happens-when-you-cook-french-fries-in-space-1566973977
- http://thaiastro.nectec.or.th/library/article/219/
- https://www.thevintagenews.com/2017/08/01/nasa-astronaut-john-glenn-was-the-first-man-to-eat-in-space/
- https://airandspace.si.edu/exhibitions/apollo-to-the-moon/online/astronaut-life/food-in-space.cfm