ความเคลื่อนไหวของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้การนำของ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ในฐานะผู้อำนวยการ NIA ซึ่งนำการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความหวังอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ อนาคตประเทศไทยบนถนนนวัตกรรมได้อย่างน่าตื่นตา ซึ่งเห็นโลโก้ NIA ปรากฏอยู่ทุกหนแห่งที่เป็นความหวังและอนาคต
10 สิงหาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา… NIA ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Startups จากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุน และ ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำเทคโนโลยี ระบบ หรือ บริการด้านกิจการอวกาศ สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจจริง และ สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอวกาศโลกที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 20 ปีข้างหน้า…
ประเด็นสำคัญก็คือ NIA คาดหวังจะได้เห็นเศรษฐกิจอวกาศ กลายเป็นหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ เป็นเครื่องยนต์ในการกระตุ้น GDP ของไทยให้สูงขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุน สตาร์ทอัพเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Startups ผ่านกลไกต่างๆ เช่น…
- สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ
- ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เช่น สถานีภาคพื้นดิน
- เตรียมพร้อมรองรับการส่งจรวดและดาวเทียมด้วยการพัฒนาให้สตาร์ทอัพสามารถผลิตดาวเทียมได้เองเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
- สนับสนุนการใช้งานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบนำทาง โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม และบริการด้านอุตุนิยมวิทยา
- การสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้แก่สตาร์ทอัพของไทยที่สนใจเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอวกาศ
โครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 มีสตาร์ทอัพไทยอยู่ในโครงการมากถึง 10 ราย ได้แก่…
- Space Composites… ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ชั้นสูงที่ใช้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อการสำรวจอวกาศ
- iEMTEK… สายอากาศและอุปกรณ์เชื่อมต่อสั่งงานสำหรับระบบสื่อสารบนดาวเทียมขนาดเล็ก
- NBSPACE… ดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาสภาพทางอวกาศ
- Irissar… เรดาร์ อุปกรณ์ และ ระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ
- Halogen… บอลลูนเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ
- Plus IT Solution… ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่นๆ
- Krypton… นวัตกรรมโปรเจกต์คริปโตไนท์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการดาวเทียมในรูปแบบใหม่
- Spacedox… ระบบวิเคราะห์และแจ้งคุณภาพอากาศโดยใช้บอลลูนลอยสูงผ่านเครือข่าย Lora และข้อมูลการตรวจวัดจากดาวเทียม
- Emone… เทคโนโลยีควบคุมความเร็วการโคจรวัตถุในอวกาศเพื่อลดปริมาณขยะจากอวกาศ
- Tripler Adhesive… สูตรกาวและสารยึดเกาะเพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางอวกาศ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า… โครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกับ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thai Space Consortium เพื่อผลักดันเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้มีบทบาทและสามารถเติบโตได้ในอุตสาหกรรมอวกาศ โดยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่ผ่านมา… ซึ่ง NIA ได้เฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความสนใจหรืออยู่ในธุรกิจอวกาศของประเทศไทย เพื่อเข้ามาร่วมโครงการบ่มเพาะและพัฒนาในรูปแบบ “การร่วมรังสรรค์ หรือ Co-Creation” เพื่อปูทางไปสู่การสร้างเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thai Space Consortium หรือ TSC ซึ่งมี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย… ซึ่งผลักดันและเคลื่อนไหวจนมีวาระการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ว่าด้วย “ความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และ พัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย” ของ 12 หน่วยงาน ไปตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ปี 2021 โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. รวมทั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นแกนนำ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า… การลงนามความร่วมมือของ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันริเริ่มตั้งแต่สร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ เรียนรู้และลงมือทำโดยตรง ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย… รวมถึงออกแบบ และ สร้างอุปกรณ์ Payload เพื่อใช้งานด้านต่างๆ
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นโจทย์ที่ท้าทายการยกระดับองค์ความรู้ของประเทศที่สำคัญ โดยทั้ง 12 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่
- งานวิศวกรรม
- งานแอปพลิเคชั่น
- งานวิจัยและพัฒนา
- งานสนับสนุนการศึกษา
- งานสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม
โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ ความเชี่ยวชาญ และ กำลังคนที่แต่ละหน่วยงานภาคีความร่วมมืออวกาศไทยมีอยู่… ซึ่งทั้ง 12 หน่วยงานภาคีประกอบด้วย
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ระบบนิเวศด้านอวกาศของไทยที่เริ่มต้นด้วยการเดินเครื่องผลักดัน Startup ซึ่งเป็นเอกชนผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 โดย NIA… โดยความเห็นส่วนตัวถือว่า “เติมเต็ม” เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศและนวัตกรรมจริงๆ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์นวัตกรรมไทย… ซึ่งหาข่าวและความเคลื่อนไหวด้านนวัตกรรมในประเทศไทยที่ไกลจากหิ้งแบบนี้ไม่เคยได้มาก่อน…
References…