โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาดและระบบกักเก็บพลังงาน ถือเป็นโครงการสำคัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำลังเร่งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขต EEC เพื่อให้สอดรับกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid… พลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ หรือ Smart Environment
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับไปดำเนินงาน ในการจัดหาไฟฟ้าส่วนนี้ให้กับ EEC
ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าใน EEC… 3 จังหวัดทั้งระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีปริมาณรวมทั้งสิ้นราว 3,735 เมกะวัตต์ และประมาณการว่าในปี 2580 จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเป็นกว่า 6 ล้านคน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในหลายรูปแบบ ที่เป็นการร่วมลงทุนของภาคเอกชนและรัฐ การลงทุนของเอกชน
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมคาร์บอนตํ่า… การจัดหาไฟฟ้าพลังงานสะอาด ถือเป็นโครงการสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จะศึกษา พัฒนา และจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะมีบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเป็นผู้ลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านเงินลงทุนและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทย แบบผสมผสาน ร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในระยะแรก การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโครงการประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มีรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า จะเป็นสัญญาซื้อขายเป็นแบบ Non-firm ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าขายส่ง ช่วง Peak 4.22 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak 2.35 บาทต่อหน่วย เป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าพิจารณาบนหลักการเดียวกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และไม่มีการบวกเพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้ง Adder หรือ FiT ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่สถานที่ตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะไปจัดหาพื้นที่ให้เช่าสำหรับเป็นที่ตั้งโครงการแบบผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม ในบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
เนื้อข่าวความเคลื่อนไหวก็ประมาณนี้ครับ… ซึ่งความเคลื่อนไหวของ EEC หลังจากกฏหมายหลายฉบับของ EEC บังคับใช้ได้อย่างทุกวันนี้… ดูเหมือนว่าทีม EEC ภายใต้การนำของ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ จะขับเคลื่อนนโยบายด้วยอัตราเร่งที่น่าสนใจในหลายมิติ… โดยมุมมองส่วนตัวผมชื่นชมกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายของ ดร.คณิศอย่างมาก โดยเฉพาะการบริหารความขัดแย้งที่เกิดจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพื้นที่สามจังหวัด EEC ที่มีทางออกให้ทุกฝ่ายและทุกการพูดคุย…
ประเด็นก็คือ… EEC ขึ้นทำเนียบเขตเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปแล้วครับ… ผมมีสำเนาเอกสารที่สถานทูตจากมิตรประเทศหลายชาติทำขึ้นรายงานข้อมูลเกี่ยวกับ EEC ในลักษณะบทวิเคราะห์ที่บอกทุกท่านได้เลยว่า… ทัศนะและมุมมองเป็นบวกอย่างยิ่ง
ทีนี้ก็เหลือแต่พวกเรา… โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ EEC ที่การเปลี่ยนแปลงมาถึงท่านแล้ว… ในการเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งทำลายและสรรสร้างเสมอ… ว่าแต่ท่านติดกับดักส่วนที่กำลังถูกทำลาย หรือท่านอยู่ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมกับโอกาสใหม่นี้แล้ว…