ถ้าเปิดประเด็นคุยกันเรื่องพัฒนา Dapp หรือ Decentralized Applications หรือก็คือแอพพลิเคชั่นที่มีบล็อกเชนทำงานเป็นระบบหลังบ้าน ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็มีแต่ Ethereum เท่านั้นที่โดดเด่น และ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากที่สุด จนกระทั่งมี Binance Blockchain เกิดขึ้นพร้อมระบบนิเวศเพื่อ Dapp และ DeFi โดยเฉพาะ เราจึงได้เห็นความหลากหลายของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอีกขั้น… ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีบล็อกเชนเกิดขึ้นมากมายอยู่ก่อน แต่ก็หาทางเติบโตทางการตลาดได้ไม่มาก แม้จะยืนหยัดอยู่มาจนถึงปัจจุบันได้หลายแพลตฟอร์ม… แต่แพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ล้มหายตายไป และ ดูแล้วไม่เห็นจะน่าใช้ตรงไหนก็ยิ่งมีมากกว่ามาก
การเปิดประเด็นคุยกันเรื่องพัฒนา Dapp หรือ Decentralized Applications ซึ่งทุกวงสนทนาต้องถามกันเสมอว่า… ใช้บล็อกเชนเจ้าไหนดี? และ เจ้าไหนถูก?… ประเด็นเจ้าไหนดีคงต้องขอข้าม เพราะทุกแพลตฟอร์มที่ยืนอยู่ได้ ล้วนมีดีจนยืนอยู่ได้กันทั้งสิ้น ส่วนใครจะชอบดีแบบไหน หรือ เลือดจุดเด่นเป็นอะไร อันนั้นก็แล้วแต่ทัศนคติและวิสัยทัศน์ของแต่ละคน… แต่ถ้าอยากใช้แพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ทั้งดีและถูก ส่วนใหญ่จะได้คำตอบเป็น Solana Blockchain เสมอ
สิ่งที่ทำให้ Solana โดดเด่นที่สุดคือเรื่องความเร็วในการทำ Transactions ด้วยความเร็วสูงถึง 65,000 รายการต่อวินาทีตั้งแต่เปิดตัว ซึ่งสูงกว่าบล็อกเชนแพลตฟอร์มอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นหลายพันเท่า และ มีแผนจะเพิ่มความเร็วยิ่งขึ้น เมื่อ Ethereum 2.0 พัฒนาความเร็วจาก 15 รายการต่อวินาที ไปเป็น 100,000 รายการต่อวินาทีบ้าง… ซึ่งทุกแพลตฟอร์มก็คง Upgrade กันไปจนถึงขีดจำกัดที่แท้จริงค่าหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นกี่รายการต่อวินาที
แต่ที่โดดเด่นและดึงดูดใจมากที่สุดก็คือ ค่าธรรมเนียม หรือ Fee ต่อรายการ ซึ่งวันที่ผมปิดต้นฉบับ 2 กรกฎาคม ปี 2021 อยู่นี้… ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยบน Solana อยู่ที่ 0.00025 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แม้จะเป็นราคาเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงสำหรับ Solana ที่ปรับขึ้นตามราคาเหรียญ SOL แต่ก็ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ อยู่มาก
ในมิติของการพัฒนา… Solana ได้รับความสนใจที่สุดเมื่อครั้งเปิดตัวฟังก์ชั่น Wormhole เพื่อเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบนิเวศของ Ethereum ทำให้สามารถเชื่อมต่อ SOL Token หรือ SPL Token กับ ERC-20 Token บน Ethereum Blockchain ได้โดยตรง… ซึ่งถือว่าอำนวยความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลไปมาระหว่าง Solana Blockchain และ Ethereum Blockchain ให้กลายเป็นเรื่องง่ายดายในระดับ Infrastructure ที่เชื่อถือได้มากกว่า
ตรงนี้เองที่ทำให้แพลตฟอร์ม Crypto Wallet ส่วนหนึ่งไม่ลังเลที่จะพัฒนา Wallet บน Solana โดยเฉพาะ Wallet รุ่นล่าสุดที่มักจะต้องรองรับ NFT Token โดยมีกรณีของ Phantom Wallet เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สร้างบน Solana
สรุปว่า… ถ้าท่านเป็นนักพัฒนา Dapp ทุกรูปแบบ ให้ลองพิจารณา Solana Blockchain นอกเหนือจาก Ethereum หรือ Binance ไว้บ้าง… ส่วนท่านที่เป็นนักลงทุนผมก็อยากแนะนำเหรียญ SOL เอาไว้ให้พิจารณาเช่นกัน ซึ่งก็ยืนยันว่ามีความเสี่ยงไม่ต่างจากการลงทุนคริปโตอื่นๆ และโปรดระมัดระวังให้มาก ส่วน Token และ DeFi บนแพลตฟอร์มก็ยังคงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นเดิมครับ
References…