ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้ค้นคว้าข้อมูลเมืองอัจฉริยะแทบทุกมิติ ซึ่งข้อมูลหลายอย่างที่ผมพบ ในวันที่แนวคิดการพัฒนาชุมชนและเมืองเปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ จนต้อง Update กันถี่ยิบในหลายประเด็น โดยเฉพาะเทคโนโลยี IoT และการออกแบบประสบการณ์ของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ
ประเด็นก็คือ… เมืองอัจริยะ หรือ Smart City เป็นเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทุกภาคส่วนในบ้านเรา กำลังสนใจและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนเชิงนโยบายก็มีความเคลื่อนไหวจนหลายเทศบาลจังหวัด โดดเข้าร่วมจนมีการแถลงข่าวเพื่อประกาศวิสัยทัศน์กันไม่น้อย โดยเฉพาะดาวเด่นอย่างชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราที่เป็นหัวเมืองหลักใน EEC และเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง DEPA ไปตั้งสำนักงานสาขาอยู่ และรับนโยบายโดยตรงจากรัฐบาลให้ดำเนินการ
อันนั้นเป็นเรื่องของภาครัฐที่ผมจะขอข้ามไปไม่พูดถึงและวิจารณ์อะไรตอนนี้… พอดีผมได้สำเนาราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนพิเศษ 7 ง ลงวันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส. 7/2561 เรื่อง การให้การส่งเสริมกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มาอ่านเมื่อหลายวันก่อน และคิดถึงมิติของการลงทุน Smart City ของฝั่งเอกชน โดยเฉพาะเอกชนฝั่ง Developers ที่สนใจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเทคโนโลยียุคถัดไป ที่สามารถเอาใจคนขี้เกียจและคนธุระยุ่ง ให้เหลือเวลาและสมองไปคิดอย่างอื่น มากกว่าจะมาเสียเวลากับกิจวัตประจำวันที่หลายอย่าง Automated ได้
สาระของ ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง การให้การส่งเสริมกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แบ่งประเภทกิจการออกเป็น 3 ประเภทกิจการที่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
1. กิจการนิคม หรือ เขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
2. กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ
3. กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ
หลักเกณฑ์ของกิจการนิคม หรือ เขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A2 ประกอบด้วย
1. ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน
2. ต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy และ Smart Environment ภายในพื้นที่
3. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน
4. ไม่ให้การส่งเสริมในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ
5. ต้องมีที่ดินไม่น้อยกว่า 500 ไร่
6. ที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงานต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และไม่เกินร้อยละ 75 ของพื้นที่ทั้งหมด ยกเว้นกรณีมีที่ดินทั้งหมดเกิน 1,000 ไร่ ให้กำหนดตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
7. เงื่อนไขอื่น ดังนี้
7.1 มาตรฐานของถนนหลัก
7.1.1 กรณีที่ดินเกินกว่า 1,00 ไร่ขึ้นไป ต้องมีถนน 4 ช่องทาง เขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร ผิวจราจรไม่น้อยกว่า 14 เมตร มีเกาะกลางถนนและทางเท้าไม่น้อยกว่า 2 เมตรต่อข้าง นอกจากนี้ต้องมีผิวทางหรือไหล่ทางกว้างเพียงพอที่จะให้รถยนต์จอดฉุกเฉิน
7.1.2 กรณีที่ดินเกินกว่า 500-1,000 ไร่ ต้องมีถนน 2 ช่องทาง เขตทางไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร ผิวจราจรไม่น้อยกว่า ๗ เมตร มีทางเท้าไม่น้อยกว่า 2 เมตรต่อข้าง นอกจากนี้ต้องมีผิวทาง หรือไหล่ทางกว้างเพียงพอที่จะให้รถยนต์จอดฉุกเฉิน
7.2 มาตรฐานของถนนสายรองต้องมีผิวจราจรไม่น้อยกว่า 8.50 เมตร ไหล่ถนนไม่น้อยกว่า ๒ เมตรต่อข้าง
7.3 ระบบบำบัดน้ำเสียต้องเหมาะสมตามลักษณะสมบัติของน้ำเสียและการบำบัดน้ำเสียต้องเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีบ่อเก็บน้ำทิ้งหลังการบำบัดด้วย
7.4 ระบบระบายน้ำเสียต้องแยกออกจากระบบระบายน้ำฝนโดยเด็ดขาด
7.5 ต้องจัดให้มีที่รวบรวม จัดเก็บ และกำจัดขยะที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
7.6 โรงงานที่เข้าใช้พื้นที่ต้องเป็นโรงงานที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมต้องห้า,ตามที่กำหนดไว้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7.7 ต้องมีบริการสาธารณูปโภค โดยมีไฟฟ้า น้ำประปาและน้ำใช้ โทรศัพท์ และการไปรษณีย์แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมใช้ได้เพียงพอ
7.8 ต้องจัดปรับปรุงที่ดินประมาณร้อยละ 25 ของที่ดินทั้งหมดหรือตามจำนวนที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ให้มีความพร้อมในด้านบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกบัตรส่งเสริม
หลักเกณฑ์ของกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A2,A3 ประกอบด้วย
1. ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน
2. ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่พร้อมรองรับระบบอัจฉริยะด้านต่าง ๆ เช่น Fiber Optic, Public Wifi เป็นต้น
3. ต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ Smart Environment และจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่น ๆ อย่างน้อยอีก 1 ด้าน จาก 6 ด้านดังนี้ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energy
4. ต้องจัดให้มีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูล โดยมีการเชื่อมโยงหรือการให้ใช้งานข้อมูลในการบริหารจัดการและให้บริการในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Open Data Platform)
5. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน
6. ต้องกำหนดและดำเนินการตามเป้าหมายด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่
7. ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
8.รายได้ที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเป็นรายได้ค่าบริการในพื้นที่ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้ ระบบอัจฉริยะตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
9. ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังนี้
9.1 กรณีโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A2
9.2 กรณีโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะไม่ครบทั้ง 7 ด้าน ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A3
10. หากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
หลักเกณฑ์ของกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A2,A3ประกอบด้วย
1. ต้องมีการพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy และ Smart Environment เป็นต้น
2. ต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเท่านั้น
3. ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังนี้
3.1 กรณีโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A2
3.2 กรณีโครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะไม่ครบทั้ง 7 ด้าน ได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบบ A3
4. หากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยหลักการตามระเบียบก็มีให้ยึดเท่านี้… ซึ่งคณะทำงานเรื่อง Smart City บางคณะที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพูดคุย จะเริ่มวางแผนเตรียมตัวกันนานพอดู โดยมีผู้นำการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นำแบบฟอร์มของสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทยหนา 47-48 หน้ามากรอกประเมินเพื่อเป็นแม่แบบในการศึกษาวางแผนเริ่มต้นครับ… ท่านที่สนใจแนวทางนี้ ดาวน์โหลดเอกสารที่นี่เลยครับ หรือจะประสานงานไปที่…
สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
80 ถนนลาดพร้าว ซอย4 แขวงจอมพล
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
info@smartcitythailand.or.th
โทร: 020-262-333 ต่อ 5101-5111
ครับผม!
อ้างอิง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/007/T_0021.PDF
https://smartcitythailand.or.th/face/images/card/1555477950.pdf