การนอนเป็นหนึ่งในกิจวัตรของทุกคนที่สำคัญเท่าๆ กับการกินและขับถ่าย… คนส่วนใหญ่ดิ้นรนมีบ้านดีๆ เพื่อใช้เวลากับการนอนในบ้านที่เลือก… จนนิยามของที่อยู่อาศัยจะต้องมีที่นอน ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์พระราชวัง หรือกระต๊อบมุงหญ้าคาปูฟากไม้ไผ่
นานมาแล้วที่ไลฟ์สไตล์เรื่องการนอน ไม่เคยมีเรื่องของเทคโนโลยีที่ชัดเจน จนกระทั่งเทคโนโลยีทางการแพทย์และงานวิจัยมากมายชี้ว่า… การนอนสำคัญกับสุขภาพและอายุขัยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาหารเสียอีก… เพราะกรณีของอาหารคนเรายังมีทางเลือกมากมายให้กินและดื่ม… แต่การนอนหลับมีเพียงหลับ ที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่มีโอกาสเลือกอะไรได้เลย
ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ… มนุษย์ใช้เวลา 1/3 ของวันเพื่อการนอนโดยเฉลี่ย ซึ่งการนอนของมนุษย์จะช่วยให้ร่างกายเตรียมกลับสู่โหมดเริ่มต้นใหม่ การศึกษาเรื่องการนอนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจ โดยตั้งสมมติฐาน กลไกและความสำคัญของการนอนหลับ ที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจ กลับคืนสู่สภาวะเริ่มต้นใหม่ หรือ Restart อีกครั้ง
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยเรื่องการนอนหลับได้พาเราย้อนไปทำความเข้าใจเหตุผลของการนอนหลับที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้พอจะแบ่งเหตุผลของการนอนออกได้ 3 เหตุผลหลักๆ ตามความเข้าใจในปัจจุบัน
1. การนอนหลับเพื่อพักฟื้น
ทฤษฎีนี้เชื่อว่า… การนอนหลับจะช่วยทำให้เนื้อเยื่อกลับคืนสู่สภาวะปกติและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับวันถัดไป ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยการกำจัดสารสื่อประสาทที่สะสมในสมอง รวมถึงการซ่อมแซมเนื้อเยื่อทั้งร่างกาย ระบบน้ำเหลืองจะทำการกำจัดสารเคมีจากสมองออกไปในขณะที่นอนหลับ… รวมถึงสาร Adenosine ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกง่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะตื่น
2. การนอนหลับเพื่อปรับตัว
ทฤษฎีนี้ย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่การนอนในเวลากลางคืนจะทำให้รอดชีวิตจากผู้ล่ามากกว่า เนื่องจากช่วงเวลากลางคืนอันตราย บรรพบุรุษของเราจึงต้องหาที่หลบภัยและนอนหลับรอรุ่งอรุณ ค่อยออกหาอาหารเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์… ซึ่งการนอนเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอด
3. การนอนหลับเพื่อสะสมพลังงาน
ทฤษฎีนี้เชื่อว่า… การนอนหลับเป็นไปเพื่อสะสมพลังงาน เพราะการนอนหลับแสดงว่า ร่างกายจะลดการเผาผลาญลง ความต้องการพลังงานก็จะลดลง… ทำให้ความต้องการอาหารลดลงด้วย… นอกจากนั้น การนอนหลับยังช่วยเพิ่มเวลาในการสร้างไกลโคเจน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมพลังงานสำหรับสมอง… แต่งานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับในระยะหลังพบว่า แม้ในช่วงการนอนแบบ Slow-wave จะเผาผลาญพลังงานช้าลงกว่าตอนตื่นนอนก็จริง… แต่สมองกลับตื่นตัวอย่างมากในช่วง Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep ดังนั้นทฤษฎีและความเชื่อนี้ อาจใช้อธิบายเกี่ยวกับการรักษาพลังงานได้ไม่ถูกต้องทั้งหมด
นอกจากนั้น… การนอนหลับยังมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ความจำและทักษะการแก้ปัญหา… รวมทั้งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ… นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การนอนแบบ REM ในทารก สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารกด้วย
ประเด็นก็คือ… การนอนและการนอนหลับ เป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งที่เราทำตลอดชีวิต แต่เราอาจจะรู้จักการนอนหลับไม่มากนัก… ในวันที่เทคโนโลยีพาเราเข้าสู่ยุค Body of Things ที่ Internet of Things รวมเข้ากับร่างกายมนุษย์จนได้ข้อมูล BoT มากมายเพื่อช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับการนอนหลับได้มากขึ้น
เวบไซต์ SleepGadGets.io เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลข่าวสารสินค้าและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยนำเสนอข้อมูลรีวิวขั้นละเอียดรวมไว้อย่างน่าสนใจ… และผมก็สนใจของเล่นพวกนี้ไปกับเขาด้วย… ดูภาพประกอบน๊ะครับ ผมบรรยายไม่ถูก ตัดภาพมาประกอบเนื้อหาเพียงสี่ห้าชิ้นพอให้เห็นภาพ… ซึ่งทั้งหมดผมยังมองว่านี้เป็นเพียงยุคเริ่มต้นของ SleepTech เท่านั้นเอง





โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า… รูปแบบที่อยู่อาศัยน่าจะต่างไปจากปัจจุบัน โดยเฉพาะฟังก์ชั่นในการนอนที่ใส่เทคโนโลยีเข้าไปในการออกแบบห้องนอนสมัยใหม่ ที่ใส่ใจสภาวะแวดล้อมการนอนหลับ รวมทั้งคุณภาพการนอนหลับ… ตัวอย่างกรณีคนที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea จนต้องใช้เครื่อง CPAP หรือ Continuous Positive Airway Pressure ช่วยให้อ๊อกซิเจนขณะหลับเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สมองขาดอ๊อกซิเจนเป็นช่วงๆ ขณะหลับ ซึ่งในความเป็นจริง… ปริมาณอ๊อกซิเจนขณะหลับที่เหมาะสมน่าจะดีกับทุกคนหากเทคโนโลยีสามารถบริหารอ๊อกซเจนขณะหลับได้ดีกว่าการใช้เครื่อง CPAP อย่างในปัจจุบัน
ปัญหาการนอนหลับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน… ในขณะที่การนอนหลับช่างสำคัญที่เราต้องใช้อายุขัยอย่างน้อย 1/3 ของชีวิตเราไปกับการนอน… และตลาดที่อยู่อาศัยทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อการนอน… แต่จะมีที่อยู่อาศัยที่ออกแบบเพื่อ “คุณภาพการนอน” ซักแค่ไหน