Dr. Maria Spiropulu และคณะนักวิจัยจาก California Institute of Technology ได้ประกาศความสำเร็จในการใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ Sycamore ของ Google เพื่อสร้างแบบจำลองรูหนอนโฮโลแกรม ซึ่งเป็นอุโมงค์ผ่านกาลอวกาศที่มีหลุมดำอยู่ที่ปลายด้านใดด้านหนึ่ง โดยนักวิจัยได้จำลองรูหนอนชนิดหนึ่งที่ข้อความสามารถผ่านได้ในทางทฤษฎี และ ตรวจสอบกระบวนการที่ข้อความดังกล่าวสามารถเดินทางได้
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา โดยทีมนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันระบุว่า ได้ใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์จำลองคู่หลุมดำขนาดจิ๋ว เพื่อติดตามสังเกตพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นตามมาของหลุมดำทั้งสอง ซึ่งผลปรากฏว่า… มีรูหนอน หรือ ช่องทางลัดคล้ายอุโมงค์เกิดขึ้นเชื่อมต่อคู่หลุมดำจำลองนั้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้ทำนายเอาไว้แล้วว่า หากเกิดการบิดเบี้ยวโค้งงอของปริภูมิ-เวลา หรือ SpaceTime อันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงมหาศาลเช่นที่พบได้รอบหลุมดำ… ก็จะทำให้เกิดรูหนอน หรือ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Einstein-Rosen Bridge หรือ สะพานไอน์สไตน์-โรเซน” โดยเราสามารถใช้รูหนอนเคลื่อนย้ายสสาร พลังงาน หรือ ข้อมูล ระหว่างตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลกันมากในห้วงจักรวาลได้ภายในชั่วพริบตา
คซามจริง… เรายังไม่พบรูหนอนที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถจำลองรูหนอนขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณสมบัติและพฤติกรรมเหมือนกับที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้ทำนายเอาไว้ แม้การทดลองครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้ปริภูมิ-เวลาเกิดการบิดเบี้ยวโค้งงอขึ้นมาจริงๆ ก็ตาม
Dr. Maria Spiropulu อธิบายว่า… ถึงแม้เราจะยังไม่ได้สร้างรูหนอนของจริงขึ้นมา แต่การจำลองรูหนอนขนาดจิ๋วนี้จะเป็นหนทางไปสู่การจำลองรูหนอนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ศึกษาทดลองทฤษฎีฟิสิกส์ขั้นสูง เช่น ทฤษฎี QG หรือ Quantum Gravity หรือ ทฤษฎีความโน้มถ่วงเชิงควอนตัม
Dr. Maria Spiropulu ยืนยันว่า… หนทางยังอีกยาวไกลกว่าที่เราจะสามารถเทเลพอร์ต หรือ Teleportation คน สัตว์ หรือ สิ่งของต่างๆ ผ่านรูหนอนได้จริง แต่การจำลองรูหนอนด้วยคอมพิวเตอร์ควอนตัมในครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ในทางทฤษฎีว่า การเดินทางข้ามห้วงจักรวาลผ่านรูหนอนนั้นเป็นไปได้จริงอย่างแน่นอนในอนาคต
References…