ความสำเร็จของ EEC กลายเป็นบทเรียนที่ ภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยลุกขึ้นมาปัดฝุ่นโครงการระดับเมกะโปรเจคมากมาย… ล่าสุดเวบไซต์ข่าวประชาชาติธุรกิจขึ้น Title ว่า “โมเดล EEC ปั้นเขตเศรษฐกิจใต้ 6 แสนล้าน ประชัยคัมแบ็กฟื้นนิคมจะนะ”
เนื้อข่าวพูดถึง ดร. ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ พูดถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และจากที่หน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนได้หารือกัน
ล่าสุดมีแผนจะผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้าแห่งใหม่ขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เรื่อง การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งจะลงทุนโดยภาคเอกชน หากโมเดลนี้สำเร็จจะขยายไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 14 แห่ง เช่น สะเดา สงขลา เทพา หนองจิก ปัตตานี เขตพิเศษนราธิวาส เบตง ฯลฯ
พูดง่ายๆ ว่างานนี้มีการดึงเอกชนเพื่อสร้างต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง โดยนำร่องที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา… โดยมีบิ๊กเนมในแวดวงธุรกิจเมืองไทยอย่าง คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ เจ้าของแลนด์แบงค์ขนาด 7,000 กว่าไร่ในพื้นที่… ปตท. และ ไออาร์พีซี มีที่ดินรวมกันกว่า 3,000 ไร่
…โดยเอกชนทั้ง 3 รายจะร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้น ก่อนหน้านี้ นายประชัยเสนอว่า ปัจจุบันมีบริษัทอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางของจีนสนใจที่เข้ามาลงทุนโครงการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ของระบบรางรถไฟ และหัวรถจักร มูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ที่จะเชื่อมเข้ามาในมาเลเซีย ทั้งโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันออก (ECRL) และสายเหนือ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียลงนามในสัญญาเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน
ท่านที่สนใจ คลิกติดตามรายละเอียดที่น่าข่าวประชาชาติตรงนี้ครับ!

ประเด็นมีอยู่ว่า… นี่คือการตั้งต้นที่ดูมีความหวังมากสำหรับภาคใต้ ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อนำการพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลจากหน้าตักรัฐ ผ่านเครื่องมือและช่องทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสู่ภูมิภาค
ก่อนหน้านั้นแรงต้านจากภาคสังคมฝั่งภาคใต้ต้องบอกว่า เข้มข้น ดุดันกับหลายๆ กรณีจนเอกชนเองก็ไม่กล้า “คิดใหญ่ให้เจ็บเยอะ” กับภาคใต้นัก… แต่ความสำเร็จของ EEC กลายเป็นคำตอบ ของคำถามและภาพน่ากลัวของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชุมชน สิ่งแวดล้อมและผลกระทบนั่นนี่ ที่สุดท้ายกลายเป็นประเด็นอีกมากมายที่ทำให้… ไม่มีใครได้อะไรนอกจากทะเลาะเบาะแว้งและแตกแยก
เอาเป็นว่า… สำหรับ SEZ จะนะ สงขลา ที่ได้หัวหอกอย่างคุณประชัย ควง ปตท. และ IRPC นำร่องร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างที่เป็นข่าว… ผมคิดว่าที่ต้องลุ้นมีเพียงเรื่องเดียวแล้วครับ
รัฐจะให้เม็ดเงินไปดันเขตเศรษฐกิจภาคไหน เป็นลำดับถัดไปจาก EEC!!!…
แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า… ราคาที่ดินในพื้นที่น่าจะวิ่งลุยไฟต่อไปอีกพักใหญ่แน่ๆ