ข่าวการแพร่ระบาดรอบใหม่ของ COVID19 จากเขียงหั่นปลาแซลมอนในปักกิ่ง และข่าวการระบาดรอบใหม่จากโรงฆ่าสัตว์ของบริษัทเทินนีส์ หรือ Toennies ใน Guetersloh แคว้น North Rhine-Westphalia ในเยอรมัน จนหลายๆ ประเทศตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยของอาหารระหว่างขั้นตอนการนำเข้าส่งออก… และนำไปสู่ปัญหาการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มก่อตัวขึ้นทั่วโลก
ผมไปรื้อข้อมูลที่ผมสะสมไว้ เพื่อประกอบการให้คำปรึกษากับเพื่อนฝูงและลูกค้า ก็เจอ… ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures หรือ SPS… ดูรายละเอียดแล้วก็คิดว่าควรสรุปมาแบ่งปันทุกท่านพอสังเขปครับ
ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ SPS เป็นมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์พืชสัตว์ภายในประเทศของตนเอง
เน้นความเสี่ยงด้านการบริโภคหรือโรคระบาด ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ติดมากับพืชสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสารเจือปนในอาหาร ทั้งสารพิษหรือจุลินทรีย์ที่เป็นพาหะของโรค โดยมีการกำหนดระดับ ความปลอดภัย และการตรวจสอบมาตรฐานการนำเข้าสินค้าพืชสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหาร โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าหรือกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าภายใต้ความตกลง SPS ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย… ประเทศนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร จะใช้มาตรการนี้ต่อสินค้านำเข้า แต่มีบางกรณีที่ประเทศนำเข้าอ้างใช้มาตรการนี้เพื่อซ่อนเร้น และใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งการกำหนดมาตรการ SPS จะต้องมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ประกอบด้วยหลักการสำคัญๆ ดังนี้
1. หลักมาตรฐานสากล หรือ Priority of International Standards
สมาชิกสามารถใช้มาตรการสุขอนามัยตามหลักสากล หรือกำหนดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ต้องสะดวกต่อการนำมาใช้และเป็นที่ยอมรับได้ โดยที่สามารถกำหนดค่าให้สูงกว่ามาตรฐานสากลได้ หากมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนโดยองค์กรระหว่างประเทศได้แก่
– CODEX ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารโดย คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO
– OIE ว่าด้วยมาตรฐานการควบคุมโรคของสัตว์ โดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ Office International des Epizooties
– IPPC ว่าด้วยมาตรฐานการอารักขาพืช ตาม อนุสัญญาเกี่ยวกับการอารักขาพืชระหว่างประเทศ คืออนุสัญญา International Plant Protection Convention
กรณีที่มาตรฐานระหว่างประเทศไม่ครอบคลุม ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดมาตรฐานขึ้นเองได้ แต่จะต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ และนอกจากนี้ตามมาตรา 5.7 ของความตกลงนี้กำหนดข้อยกเว้นกรณีที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอสามารถใช้ provisional measure
2. หลักความเท่าเทียมกัน หรือ Concept of Equivalence
สมาชิกแต่ละประเทศสามารถใช้มาตรการสุขอนามัยที่แตกต่างกัน ในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคของตน แต่ทั้งนี้ สมาชิกต้องยินยอมนำเข้าสินค้า จากประเทศอื่น หากประเทศดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานการสุขอนามัยที่ถือปฏิบัติอยู่นั้น ให้ความปลอดภัยไมต่ำกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยที่ประเทศ ผู้นำเข้ากำหนดและประเทศผู้นำเข้าสามารถตรวจสอบขั้นตอนการผลิตได้หากมีการร้องขอ
3. หลักการประเมินความเสี่ยง หรือ Risk Assessment
สมาชิกต้องมั่นใจต่อมาตรการสุขอนามัยที่นำมาใช้ว่า มีวิธีการประเมินความเสี่ยงที่ชัดเจนและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ พืช สัตว์
4. หลักความโปร่งใส หรือ Transparency
สมาชิกต้องใช้มาตรการสุขอนามัยอย่างโปร่งใส โดยต้องนำมาตรฐานสากลมาใช้และในกรณีที่นำมาตรการที่มิใช่สากลมาใช้ ประเทศผู้ออกมาตรการนั้นต้องส่งระเบียบ กฎเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติให้สมาชิกอื่นๆ ได้ทราบ และแสดงข้อคิดเห็นล่วงหน้าก่อนมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ต้องมีคำชี้แจงวัตถุประสงค์และเหตุผลที่ต้องใช้มาตรการดังกล่าว ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เช่น ป้องกันการระบาดของเชื้อโรคหรือแมลง
วัตถุประสงค์ของความตกลง SPS
1. เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์และสัตว์ จากสารปรุงแต่งสารปนเปื้อน สารพิษ หรือเชื้อโรคในอาหารและอาหารสัตว์
2. เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์จากโรคที่ติดมากับพืชหรือสัตว์
3. เพื่อปกป้องชีวิตพืชและสัตว์จากศัตรูพืช (Pest) และโรคระบาดสัตว์
4. เพื่อปกป้องอาณาเขตประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคพืช แมลงศัตรูพืช
มาตรการ SPS ไม่ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ความกังวลของผู้บริโภคและสวัสดิภาพของสัตว์ หรือ Animal Welfare… หน่วยงานแจ้งเวียนมาตรการของประเทศ หรือ NNA หรือ National Notification Authority ของประเทศสมาชิก จะต้อง “กำหนดให้มี” หน่วยงานแจ้งมาตรการ SPS เพียงหน่วยงานเดียว เพื่อทำหน้าที่แจ้งเวียนมาตรการ SPS สู่เว็บไซต์องค์การการค้าโลกและจุดสอบถามของประเทศ หรือ NEP หรือ National Enquiry Point

Credit image: https://www.asean-agrifood.org

Credit image: https://www.asean-agrifood.org
ข้อมูลเรื่องนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานกรณีต้องส่งออกหรือนำเข้าพืชสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งวิกฤต COVID19 ทำให้หลายประเทศใช้ระเบียบ SPS เข้มข้นกับประเทศคู่ค้า ทำให้ผู้ส่งออกไทยจำนวนหนึ่งเริ่มมีปัญหา… ยิ่งในรายที่ส่งออกโดยไม่มีการค้ำประกันความเสี่ยงใดๆ หลายรายมีปัญหามากถึงขั้นไม่ได้รับเงินค่าสินค้าก็มีแล้ว
และโดยส่วนตัวมองแนวโน้มว่า… จากนี้ไปเงื่อนไขข้อตกลงในกรอบ SPS น่าจะถูกยกระดับไปสู่มาตรฐานใหม่ ที่ผมคิดว่า… สินค้าเกษตรและอาหารที่มุ่งส่งออกและราคาสินค้าในประเทศ โยงกับราคาในตลาดต่างประเทศคงมีเหนื่อย… ประเทศไทยอาจจะโชคดีที่เราคุมโรคระบาดได้ดี แต่สถานการณ์โลกที่ยัง VUCA หลายมิติอยู่แบบนี้… คงต้องเรียนรู้และเตรียมอะไรกันอีกเยอะ… ในเวบไซต์องค์การอย่าง ESCAP หรือ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific ก็เริ่มเคลื่อนไหวประเด็นนี้มาตั้งแต่กลางเมษายน 2020 มาแล้วเช่นกัน
ท่านที่นำเข้าส่งออก หรือกำลังวางแผนทำเกษตรเพื่อการค้าอยู่… เตรียมตัวให้พร้อมขึ้นไปอีกขั้นรอได้เลยครับ… ทั้งได้มาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่ปนเปื้อนโดยปริยายครับ
อ้างอิง
http://www.thaifta.com/trade/tafta
https://www.bloombergquint.com/coronavirus-outbreak
https://www.unescap.org/blog/towards-post-covid19