Hyper Convenience Consumer หรือ ผู้บริโภคชอบสะดวกรักสบายขั้นสุด ซึ่งเป็นคำนิยามพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคที่โมเดลธุรกิจสมัยใหม่ล้วน “เอาใจใส่ความพยายามของลูกค้า” ให้ได้บริโภคสินค้าและบริการโดยไม่ต้องพยายามขยับทำอะไรเลย… นอกจากรอจ่ายตังค์อย่างเดียวก็พอ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ปัญหา หรือตอบสนองความต้องการอะไร
โดยเฉพาะธุรกิจอาหารในห่วงโซ่ทั้งหมด ซึ่งลูกค้าผู้บริโภคต่างก็ต้องการสะดวกและสบายกับมื้ออาหาร อันเป็นกิจวัตรที่ไม่มีใครหลบพ้นกันทั้งสิ้น… จนเราได้เห็นการสั่งข้าวราดกะเพราจาก 7-11 อุ่นร้อนและส่งถึงที่… และเห็นโมเดลอาหารพร้อมรับประทาน หรือ Ready To Eat หรือ RTE เติบโตทั้งในมิติ Convenience Services และ Delivery อย่างก้าวกระโดด
ประเด็นก็คือ… ถ้าเราถอยกลับไปก่อนจะมาเป็นชุดอาหาร RTE ในชั้นปรับอุณภูมิใน Convenience Services Point ทุกแบบนั้น… วัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารมากมายจะถูกขนถ่ายจากแหล่งผลิต ไปสู่ปากท้องของทุกคนในหลายรูปแบบ ซึ่งภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการผลิตอาหารและขนส่งจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งหรืออีกหลายๆ จุดหมายปลายทาง… มักจะมีโครงสร้างต้นทุนซับซ้อน ซึ่งมาพร้อมกับบริบทด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือของวัตถุดิบอาหาร ไปจนถึงห่วงโซ่การใช้ทรัพยากรอื่นๆ ในการแปรรูปและปรุงอาหารอีกมาก
นานมาแล้วที่ผมได้นั่งฟังผู้รู้ถกเถียงกันเรื่อง “ขยะจากอาหาร RTE กับ ทรัพยากรและคุณภาพของอาหารปรุงเอง” ซึ่งขยะจากอาหาร RTE มีเพียงบรรจุภัณฑ์และฉลาก ในขณะที่ผักสดต้องล้างต้องปอกและหั่น ลงขยะครึ่งหนึ่งปรุงอาหารครึ่งหนึ่ง น้ำที่ใช้ตั้งแต่ล้างผักไปจนถึงล้างภาชนะหลังกินเสร็จและขยะอินทรีย์ที่เหลือจากมื้ออาหาร… ดูเหมือนจะต่างกันทั้งขนาดและน้ำหนัก ไม่นับว่าขยะอินทรีย์จากครัวของทุกบ้านที่กระจายกันอยู่นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคหนึ่งของการแยกขยะ ซึ่งแม้แต่เครื่องแยกขยะไฮเทคสุดๆ เมื่อเจอน้ำแกงเหลือกินเข้าไปยังหยุดทำงานให้เห็นต่อหน้าต่อตามาแล้ว
ที่อยากจะบอกเป็นแบบนี้ครับ… โมเดลอาหาร RTE กำลังโตและจะเติบโตอีกมาก ในขณะที่โมเดลการผลิตวัตถุดิบอาหารจากภาคเกษตรกรรม ก็มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตรล้ำหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในบริบทแบบ Agricultural Technology ไปจนถึงระดับ Agricultural Intelligence กันแล้ว … โดยความเห็นส่วนตัว อุตสาหกรรมอาหาร RTE ยังเหลือพื้นที่ทางการตลาดอีกมากจาก Hyper Convenience Consumers ที่เติบโตและถูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหาอาหารรับประทาน ซึ่งไม่มีวันจะกลับไปเข้าครัวเตรียมอาหารมื้อแล้วมื้อเล่าอีกแน่นอน… นั่นแปลว่า การขนถ่ายวัตถุดิบอาหารจากภาคเกษตรกรรมมาไกลๆ อาจจะไม่จำเป็นเท่ากับ… ส่งมาแบบพร้อมกิน ที่สามารถ “ลดการใช้ทรัพยากรโดยรวม ณ ปลายทาง” ได้ดีกว่า
ผมเรียกแนวคิดนี้ว่า RTE Farm ครับ… สินค้าอย่างข้าวสวย RTE จากนาข้าวไรซ์เบอรี่มีตราเกษตรอินทรีย์ ส่งออกจากฟาร์มมาขายแทนข้าวสารอัดถุงเหมือนแต่ก่อน…. หรือสินค้าอย่าง RTE Pork Chop จากฟาร์มหมู… ไปจนถึงนมถั่วเหลืองและเนื้อเต้าหู้จากไร่ถั่วเหลือง… เป็นต้น
ความจริงผมทราบดีว่า… ภาคเกษตรและเกษตรกรฐานรากของประเทศไทยคงทำอะไรประมาณนี้ไม่ได้ ซึ่งผมไม่ได้เสนอไอเดียเพื่อพี่น้องเกษตรกรฐานนั้นหรอกครับ ผมกำลังพูดถึงโมเดลธุรกิจอาหารที่ทำโมเดลขึ้นใหม่แบบครบห่วงโซ่จนได้สินค้าเป็นอาหารพร้อมรับประทาน หรือ สินค้าอาหารแปรรูปอย่างครบวงจรต่างหาก
รายละเอียดในโมเดลลึกๆ ก็คงแล้วแต่ว่าโจทย์เฉพาะของโมเดลว่าคืออะไร… ถ้าสนใจจริงๆ ท่านคงคิดรายละเอียดออกได้ดีกว่าผมแน่ๆ
References…