Relative Strength Index หรือ RSI เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคสำหรับใช้ตรวจสอบภาวะ “Demand/Supply หรือ ตรวจสอบแรงซื้อ/แรงขาย” ของสินทรัพย์ลงทุนผ่านการตรวจสอบ “แรงเหวี่ยง หรือ Momentum” ที่ปรากฏเป็นการแกว่งตัวของราคาสัมพันธ์กับปริมาณการซื้อขาย… ซึ่งจะปรากฏเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเสมอว่า เมื่อมีการ “ขาย” สินทรัพย์ลงทุนต่อเนื่องสะสมเรื่อยๆ ก็จะเกิดภาวะ “ขายมากเกินไป หรือ Oversold ซึ่งจะเห็นราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างมีนัยยะตามแรงขายเสมอ… และในทางตรงกันข้าม หากมีการ “ซื้อ” สินทรัพย์ลงทุนต่อเนื่องสะสมเรื่อยๆ ก็จะเกิดภาวะ “ซื้อมากเกินไป หรือ Overbought” จนทำให้เห็นราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะตามแรงซื้อเสมอเช่นกัน…
ประเด็นก็คือ… ณ ช่วงราคาที่เกิด Oversold และ Overbought จะมีการกลับตัวของราคาซื้อขายเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่… อาจจะเป็นเพียงการกลับตัวชั่วคราวภายในแนวโน้มหลัก แต่หลายกรณีก็อาจจะกลายเป็นการเปลี่ยนทิศทางแนวโน้มหลักได้ด้วย… แรงซื้อ/แรงขายในเขต Oversold และ Overbought จึงใช้ตรวจสอบหา Pivot Zone หรือ จุดกลับตัวของราคาซื้อขายเป็นหลัก… แต่หลายกรณี “อาจจะไม่เกิดการกลับตัวของราคา” ถึงแม้ว่าจะเกิด Oversold หรือ Overbought ขึ้นบนดัชนี RSI แล้ว… นักวิเคราะห์ที่ใช้ RSI จึงต้องดู Chart Patterns คู่กันด้วยเสมอ
Relative Strength Index หรือ RSI จะเป็นตัวเลขที่ได้จากค่าเฉลี่ยราคาย้อนหลัง 14 พีเรียด หรือ Period มาเฉลี่ยและคูณ–หารเป็นเปอร์เซนต์ออกมา… RSI จึงมีค่าดัชนีระหว่าง 0–100 เสมอ… โดยค่า 0–30 จะหมายถึง Oversold และ ค่า 70–100 จะหมายถึง Overbought
Relative Strength Index หรือ RSI โดยทั่วไปจะเป็นเส้นกราฟแสดงผลแยกรวมอยู่กับกลุ่ม Momentum Indicator นอกหน้าต่างกราฟราคาหลัก บนแพลตฟอร์มชาร์ตราคาสินทรัพย์ลงทุนเกือบทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน… ส่วนการใช้งาน RSI ในทางเทคนิคของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ นอกจากจะดู Oversold หรือ Overbought แล้ว… นักวิเคราะห์มักจะตรวจสอบ Chart Patterns บน RSI คู่กับ Patterns บนกราฟราคาหลักด้วย โดย Chart Patterns ที่นักวิเคราะห์สนใจ เช่น Double Top / Double Bottom หรือ กราฟสองยอด… Triple Top / Triple Bottom หรือ กราฟสามยอด… Head and Shoulders หรือ กราฟศีรษะและไหล่… Rounding Bottoms / Rounding Tops หรือ กราฟทรงหงาย / กราฟทรงคว่ำ… Cup and Handle หรือ กราฟทรงถ้วยหู… Diamond Pattern หรือ กราฟทรงเพชร… Triangles หรือ กราฟสามเหลี่ยม… เป็นต้น
แต่ Chart Patterns ทั้งหมดผมขอยกไปพูดถึงเฉพาะในโอกาสหน้าครับ… ส่วนการใช้ Relative Strength Index หรือ RSI ซึ่งในการประยุกต์ใช้งานจริง มักจะถูกใช้ “เป็นเพียงส่วนประกอบ” ร่วมกับดัชนีชี้วัดทางเทคนิคตัวอื่นๆ มากกว่า โดยส่วนตัวจึงมองว่า… เพียงรู้ไว้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ “ข้อมูล” จากตลาดเพื่อต่อยอดไปทำความเข้าใจเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบอื่นๆ จนเจอรูปแบบ “ที่ใช่ และ ที่ชอบ” สำหรับตัวเองจะดีที่สุด…
References…