ธุรกิจเหมืองหินและโรงโม่ ถือเป็นธุรกิจต้นน้ำในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานมาแต่ไหนแต่ไร… ซึ่งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนานั่นนี่ ตั้งแต่ถนนสะพานจนถึงท่อระบายน้ำ ล้วนต้องใช้หินปูนทรายและเหล็กมากมาย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้น 3 จังหวัดตั้งแต่ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เขตเดียว… มีตัวเลขประเมินความต้องการหินสูงถึง 100 ล้านตัน… จึงจะเพียงพอสำหรับ 5 โครงการใหญ่ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน… โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3… โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3… โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก… และการพัฒนาเมืองใหม่…
คุณวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้เมื่อปี พ.ศ. 2562 ว่า… ปี พ.ศ. 2563 ได้เตรียมเสนอของบประมาณในการศึกษาความต้องการหินก่อสร้างอย่างละเอียดในพื้นที่ EEC… โดยผลการศึกษาจะระบุชัดเจนว่า แต่ละโครงการจะใช้หินก่อสร้างและหินปูนสำหรับผลิตปูนซิเมนต์ปริมาณเท่าไร?… หินก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงเขตก่อสร้าง จะมีเพียงพอหรือไม่?… และต้องการใช้หินก่อสร้างที่มีคุณภาพและมาตรฐานใดบ้างตามสเปคของแต่ละโครงการ?… โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องใช้หินเกรดพิเศษ เช่น หินบะซอล หินแกรนิตที่มีความแข็งแกร่งสูงอยู่ด้วย… ซึ่งโครงการน่าจะใช้เวลา 1 ปี และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับ!
ข้อที่น่าสังเกตุคือ… ผลการสำรวจในโครงการนี้ มีเพียงความต้องการหินก่อสร้างเบื้องต้นในโครงการขนาดใหญ่ ยังไม่รวมการก่อสร้างเมืองใหม่ และการขยายเมืองต่างๆ… ดังนั้นจึงต้องศึกษาเพื่อให้รู้ปริมาณอย่างละเอียดว่า ในพื้นที่ EEC ต้องการหินก่อสร้างแต่ละชนิดกี่ตัน?… หากพบว่าไม่พอจะจัดหาจากที่ไหนเพิ่ม?… เพื่อไป “กำหนดเขตแหล่งแร่” ในการให้อาชญาบัตรสำรวจ และประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองหิน เพื่อให้เพียงพอต่อทุกโครงการในอีอีซี
จากการประเมินเบื้องต้น… หินก่อสร้างยังเพียงพอต่อการรองรับโครงการ EEC ในระยะสั้น และจะหาแหล่งหินก่อสร้างให้เพียงพอในระยะยาว โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดใน EEC ยังคงมีแหล่งหินก่อสร้างที่สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้
คุณนคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุดิบอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… จากการประเมินเบื้องต้นอีก 4 โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางถนน 90 โครงการ… การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง 9 โครงการ… การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น ท่าเรือต่างๆ 19 โครงการ… และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และระบบโลจิสติกส์… มูลค่ารวม 9.47 แสนล้านบาท… คาดว่าจะใช้หินก่อสร้างทุกชนิดรวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี คือ พ.ศ. 2560-2565… หรือใช้หินก่อสร้างเพิ่มประมาณปีละ 20 ล้านตัน จากภาวะปกติที่ในพื้นที่ EEC จะมีการใช้หินก่อสร้างประมาณ 24-25 ล้านตัน หรือรวมแล้วในช่วง 5 ปีนี้ จะใช้หินก่อสร้างปีละ 45-50 ล้านตัน
เมื่อเทียบกับแหล่งเหมืองหินที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมั่นใจว่า จะมีเพียงพอต่อความต้องการในช่วง 10 ปีนี้ ทั้งหินปูน หินผสมคอนกรีต หินโรยทางรถไฟ หินคลุก หินผสมยางมะตอย หินเรียงท่าเรือชายฝั่ง
ส่วนแผนระยะยาวจะต้องหาแหล่งหินก่อสร้างเพิ่ม โดยในปัจจุบันมีคำขอต่ออายุประทานบัตรแร่หินก่อสร้าง การขอประทานบัตรใหม่ การขออาชญาบัตรสำรวจ รวมทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่… ออกไปสำรวจแหล่งหินก่อสร้างในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นอีก 3 แหล่ง ซึ่งเป็นหินแกรนนิตเกรดที่ใช้กับโครงการรถไฟ และรถไฟความเร็วสูงจะรองรับความต้องการก่อสร้างในภาวะปกติได้อีก 20 ปี
ฝั่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็กำลังศึกษาโครงการถมทะเลบริเวณแหลมฉบัง 3,000 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นการบ้านที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะต้องไปศึกษาว่า จะต้องใช้หินก่อสร้างเพื่อถมทะเลอีกจำนวนเท่าไร?…
สรุปว่า…กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กำลังพิจารณาแหล่งหินรอบ EEC ในรัศมี 100 กิโลเมตรเพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดพื้นที่แหล่งแร่หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการก็สามารถประกาศเป็นแหล่งแร่หินอุตสาหกรรมได้… จากนั้นก็เปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจ และขอประทานบัตรต่อไป
ข้อมูลที่นำเสนอไปเป็นข้อมูลเตรียมงานกันตั้งแต่ปีที่แล้วครับ… และเป็นกรณีการประเมินแค่พื้นที่เดียว ซึ่งภาพรวมการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศรวมกัน… คงต้องการหินในปริมาณมหาศาลกว่านี้มาก และผมกำลังจะบอกว่า จับตาประทานบัตรเหมืองหินในยุคปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานชาติครั้งใหญ่รอบนี้ให้ดี เพราะวงการนี้ถือว่า “หิน” ไม่ธรรมดามาแต่ไหนแต่ไรทุกมิติ!!!
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/844687
http://www1.dpim.go.th/wbd/question.php?gid=00000959