ในที่สุด… Food Delivery Platform สัญชาติไทยก็เปิดตัวขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจบริการอาหารในทุกมิติ… โดยเฉพาะอาหารสั่งส่งที่ธุรกิจร้านอาหารต้องแขวนอยู่กับแพล็ตฟอร์มสั่งส่งสัญชาติอื่นที่เข้ามาปักหลักทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสัน ในขณะที่ Startup สัญชาติไทยและคนไทยได้แต่มองตาปริบๆ
SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์จึงลุกมาทำอะไรซักอย่างจนได้แพล็ตฟอร์มสั่งส่งชื่อ Robinhood ซึ่งจะเริ่มต้นจากสั่งส่งอาหารแบบไม่คิดค่าธรรมเนียม… ไม่มีค่าสมัคร… ไม่มีค่าแรกเข้า… ไม่มีค่า Gross Profit หรือ GP หรือส่วนแบ่งจากยอดขาย… ร้านอาหารได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ทำให้สามารถขายอาหารที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม ลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารและค่าส่งตามจริงไม่มีบวก นอกจากนี้ ยังช่วยให้ “ร้านอาหารมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็ว” ขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ CSR ของ SCB เพื่อคืนกำไรให้สังคม เพื่อให้ทั้งสามส่วนคือ “คนซื้อ คนขายและคนส่ง” ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม… และโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 1 ชั่วโมง
ทีมงาน SCB ใช้เวลาน้อยนิดในการเชื่อมโยงทรัพยากร พันธมิตรและแรงบันดาลใจ… 3 เดือนกับการสร้างระบบนิเวศน์หรือ Ecosystems จากเทคโนโลยี SCB ที่สร้างไว้ก่อนหน้า ต่อกับร้านอาหารที่อยู่ในเครือข่ายจากโครงการแม่มณี และ SCB ยังพาร์ทเนอร์กับ Google My Business และ Skootar แพล็ตฟอร์มมอเตอร์ไซค์จัดส่งสินค้าสายเลือดไทยที่เกิดและเติบโตเงียบๆ มาก่อนใครในเมืองไทย ที่คน Startup ล้วนรู้จัก Skootar และ คุณโก้ กมลพฤทธิ์ ชุมพล กับ คุณนุ ธีภพ กิจจะวัฒนะ ที่ขยันขึ้นเวทีเมื่อหลายปีก่อน
Robinhood Delivery Platform เป็นเลิศและได้เปรียบสุดๆ คือ เงินจะเข้าบัญชีทั้งร้านค้าและผู้ส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากปิดออเดอร์ โดยระบบการรับจ่ายเงินจะเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ไม่มีเงินสด... ซึ่ง Robinhood Delivery Platform ใช้ข้อได้เปรียบในฐานะทายาทธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ จัดหนักผ่านเงื่อนไขทางการเงิน จนเห็นเค้าลางสงคราม “แพล็ตฟอร์มมอร์ไซด์ส่งของ” อีกครั้งหนึ่ง… ที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ตอนเริ่มกับตอนจบจะเหมือนสงคราม Grab VS Uber ในอาเซียนเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่
คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับใครหรือต้องการเป็นเจ้าตลาด แต่พัฒนาโดยใช้มุมมองของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้าหรือ Customer Experience แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีลูกค้ากี่ราย มุ่งหวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม สำหรับร้านอาหาร หากคิดว่าได้รับประโยชน์ ก็จะมาร่วมกัน ส่วนในมุมของผู้ซื้อถ้าประสบการณ์ในการใช้งานดี ก็จะอยากใช้งานต่อไป และเพราะโครงการนี้เริ่มต้นจากการเป็น CSR ที่ทำเพื่อสังคมจริงๆ จะไม่มีกำไรจากการให้บริการ Food Delivery เข้า SCB แต่อย่างใด ซึ่งถ้าในอนาคตแพลตฟอร์มตรงใจร้านค้า ตรงใจลูกค้าและมีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ ก็อาจทำมากกว่าเรื่องอาหาร โดยอยากให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สร้างความผูกพันกับลูกค้า อยากให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับแอปนานๆ และในที่สุดถ้าแพลตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก บริษัทที่ดูแลซึ่งก็คือ Purple Ventures บริษัทในเครือ SCB 10X ก็จะแยกตัวออกไปเป็น Startup และสามารถมี Business Model ที่จะหารายได้จากการเสนอบริการอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อกับสมาชิกที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการสั่งอาหารแต่อย่างใด
Robinhood Delivery Platform จะเปิดให้บริการประมาณเดือนกรกฎาคม คาดว่าช่วงเริ่มต้นจะมีร้านค้าประมาณ 20,000 ร้าน ส่วนจะมีลูกค้าใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มปริมาณมากขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี ก็คาดว่าจะได้รับโอกาสและการตอบรับที่ดี โดยจะให้บริการทั่วประเทศ แต่เริ่มที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลักก่อน สำหรับร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ ผ่านทาง โทร. 02-777-7564 เวลา 8.30 – 20.00 น. และ สาขาต่างๆ ของธนาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล… ต่างจังหวัดรอแป๊บนึง!
อ้างอิง