ผมพยายามจะช่วยสมาชิก Properea ขายที่ดินสองแปลงที่อุดรธานีให้ได้ แปลงหนึ่งเนื้อที่ 16 ไร่เศษ อีกแปลงเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ครับ… ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยทั้งกับนายหน้าและนักลงทุนในพื้นที่และจากส่วนกลางที่โฟกัสอุดรธานีหลายท่านอยู่
หลายเสียงพูดตรงกันว่า “อุดรธานีมีดีเกือบทุกอย่างในแง่โครงสร้างพื้นฐาน… จะด้อยก็แต่แหล่งน้ำที่ฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูแล้งก็น้ำขาดแคลน”
แล้วผมก็มาเจอข่าว… สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุดรธานี “จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งปี 2562” โดยให้รายงานสถานการณ์เข้ามายังคณะกรรมการบริหารจัดการนํ้าระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ได้มอบนโยบายให้บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานข้างเคียง เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้
และคุณวิชัย จาตุรงค์กร ผู้อำนวยการโครงการบำรุงรักษาและส่งนํ้าห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า อ่างเก็บนํ้าในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 14 แห่ง เป็นอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ 2 แห่งและขนาดกลาง 12 แห่ง มีความจุนํ้าได้ทั้งสิ้น 338.985 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดมีปริมาณนํ้าในอ่างจำนวน 152.216 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 44.92% ของความจุ ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีนํ้า 172.94 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 51.02%
…ปีนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำหายไปกว่า 7%
แต่… พี่น้องชาวอุดรหนองคาย รออีกนิดนึงครับ!
ย้อนไปเมื่อสิงหาคม 2561 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย” ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โดยมีระยะเวลาตามแผน 9 ปีคือระหว่างปี 2561 -2569 วงเงิน 21,000 ล้านบาท ซึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มอบให้กรมชลประทานดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และอาคารประกอบในปีงบ 61 โดยใช้จากปีงบ 60 ที่กันไว้ จำนวน 672.69 ล้านบาท เป็นผลจากการศึกษาและจัดทำแผนบริหารและพัฒนา โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่ง เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุดถึงประมาณ 63.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศคือ 149.2 ล้านไร่ แต่กลับเป็นภาคที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ภาคอีสานจะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ประชากรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ
โครงการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จึงถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ให้การยอมรับ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดทำแผนขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

โครงการลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จ. หนองคาย และ จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนในหน้าแล้ง ก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ ในส่วนลักษณะโครงการฯ ประกอบด้วย
- สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง จะทำหน้าที่สูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวง ที่เกินระดับควบคุมของประตูระบายน้ำ เพื่อระบายสู่น้ำโขง มีอัตราการสูบ สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 18,000 ไร่
- พนังกั้นน้ำช่วงตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ป้องกันผลกระทบช่วงน้ำหลาก ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 19,015 ไร่
- อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง รับน้ำช่วงน้ำหลากเพื่อระบายสู่น้ำโขง ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 17,375 ไร่
- ระบบชลประทานของโครงข่ายหัวงาน จำนวน 13 โครงข่าย ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 18 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 315,195 ไร่ รวมเป็นการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ คลอบคลุม 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด 284 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน

เอาหล่ะครับ… properea.com มีที่ดินในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำห้วยหลวงที่ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า… จะมีการผันน้ำโขงจากโพนพิสัย มาตามลำห้วยหลวงเพื่อดูดซับน้ำออกจากพื้นที่ในฤดูน้ำหลาก… และจ่ายน้ำเข้าพื้นที่ในฤดูแล้ง
เชื่อเถอะครับว่า ราคาที่ดินฝั่งทิศเหนือ ฝั่งทิศตะวันออกและทิศใต้ของอุดรธานีนาทีนี้… ถูกสุดแล้วครับ!!!