ผมยังตื่นเต้นอยู่กับเพื่อนใหม่ที่ทักทายพูดคุยเข้ามาทาง Line Official Account @properea หลายวันก่อนได้ DM จากเพื่อใหม่ท่านหนึ่งที่เจอบทความของผมและทักทายเข้ามา… การพูดคุยทักทายพาเราสองคนทำความรู้จักกันไปไกลถึงขั้นที่… ผมได้ข้อความยาวเหยียดเป็นแผนธุรกิจอย่างย่อที่เปิดภาพรวม concept เป้าหมาย แนวทาง business-gap รวมทั้ง business vision ที่ให้ภาพรวมทั้งหมดค่อนข้างชัด
เพื่อนใหม่ท่านนี้เล่าว่า… เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าไปปักธงในพื้นที่ EEC ที่ไปไกลถึงขั้นเปิดหน้าดินทำงานโยธากันแล้ว… และไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ
ประเด็นที่ผมสนใจไม่ได้ตื่นเต้นกับธุรกิจพัฒนาที่ดิน… แต่เป็น Business Concept ของเพื่อนท่านนี้… ที่ไม่ใช่เพียงแค่โมเดลพัฒนาที่ดินอย่างถมที่ สร้างถนน ปลูกบ้านขาย… ที่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในวิสัยทัศน์ธุรกิจที่ผมขนลุกที่ได้ยิน
ผมจะไม่เล่าต่อว่ามีอะไรในนั้นบ้างที่ทำผมตื่นเต้น… เพราะความวางใจระดับเปิดรายละเอียดกับคนแบบผม ที่เป็นเพื่อนใหม่แปลกหน้าเหมือนกัน… ผมก็ยินดีเก็บความลับส่วนที่ควรเก็บเอาไว้ให้เพื่อนด้วย…
แต่ผมจะข้ามมาที่… แนวคิดชิ้นหนึ่งในโครงการที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้นโดยเพื่อนท่านนี้คือ… การใส่พื้นที่ดูแลผู้สูงอายุเข้าไปในแนวคิดการออกแบบโครงการครับ!… ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือซับซ้อนอะไร
แต่ประเด็นก็คือ… การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แนวคิด Retirement Community ไม่ได้จบเหมือนการปลูกบ้านขาย… หรือจะว่าไปแล้ว นี่เป็นวิสัยทัศน์งานบริการที่เอางานบริการของโรงแรม บวกกับงานบริการของโรงพยาบาล และยังคงต้องมี Lifestyle ฟังก์ชั่นอยู่ในส่วนการบริการด้วย… ซึ่งทั้งหมด ทำให้งานส่วนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลายไปเป็นส่วนเล็กๆ ในตอนเริ่มต้นเท่านั้นเอง
การออกแบบโครงการแนว Retirement Community ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา… เป็นกระแสมานานนับสิบปี และดูเหมือนกระแสจะแรงคู่มากับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย…
เมื่อหลายเดือนก่อน… ผมได้แผ่นพับเสนอขายโปรแกรมดูแลผู้สูงอายุ ที่แนบมากับบัตรจอดรถตรงทางเข้าห้างเก่าแก่แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ จอดรถเสร็จผมถือแผ่นพับใบนั้นลงรถมาด้วยเพื่อทิ้งขยะ… โชคไม่ช่วยครับที่ถังขยะก่อนเข้าห้าง พนักงานทำความสะอาดกำลังวุ่นวายอะไรกันอยู่แถวนั้น… ผมก็เลยได้อ่านแผ่นพับใบนั้นเดินเข้าห้างไป
ประเด็นที่สำคัญไม่ได้อยู่บนแผ่นพับชิ้นนั้นครับ!
แต่แผ่นพับชิ้นนั้นทำให้ผมนึกถึง Health Tech Startup ชื่อดังอย่าง Health at Home ของหมอตั๊ม อาจารย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ ขึ้นมา… เรื่องของเรื่องก็คือ โมเดล Retirement Community เป็นการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ… ในขณะที่โมเดลของ Health at Home เป็นโมเดลส่งผู้ดูแลไปให้บริการผู้สูงอายุที่บ้าน…
ทั้งสองโมเดลธุรกิจนี้มีลูกค้ากลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาก… แต่การมอง Pain Point แล้วออกแบบธุรกิจช่างตรงกันข้าม… ธุรกิจบนแผ่นพับในมือของผม เป็นธุรกิจที่อยู่อาศัยให้เช่าสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแล… ในขณะที่ธุรกิจแบบ Health at Home เข้าไปเสนอบริการผู้ดูแลให้ผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลถึงบ้าน
มองดูเหมือนทั้งสองธุรกิจอยู่คนละโลก… แต่เมื่อจุดร่วมอยู่ที่… ลูกค้าเป็นผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเดียวกัน… ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งกันแล้วหล่ะ!!!
ตัวผมเองเคยเสนอไอเดียไว้หลายวงสนทนาว่า… Retirement Community ยังมีช่องว่างให้เสนอนวัตกรรมที่ต้องถอยกลับไปออกแบบ Retirement Ecosystems ได้อีกมาก…
ใช่ครับผมกำลังค้นข้อมูลเพื่อถกเรื่องนี้กับทุกท่านที่อยากแลกเปลี่ยน… สำหรับผม… ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไม่น่าจะง่ายเพียงแค่ออกแบบให้ผู้สูงอายุชอบ รวมทั้งฟังก์ชั่นและสภาพแวดล้อมใช่… ก็จะประสบความสำเร็จ
คำถามแรกเลยก็คือ… Retirement Community ต้องมีฟังก์ชั่นแบบไหน? มีสภาพแวดล้อมอย่างไร?… ลูกค้าวัยเก๋าถึงจะเชื่อมั่นและวางใจพอที่จะเอาบั้นปลายของชีวิตไปวางแปะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น?
เรื่องจะยาวแล้วหล่ะครับ… พรุ่งนี้ผมจะเอาเรื่อง Global Retirement Index มาเล่าต่อครับ…