การตลาดสำหรับธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือ ธุรกิจอาหารแปรรูป จะมีรูปแบบกลยุทธ์การตลาดที่ใกล้เคียงกัน การดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อพาธุรกิจไปเป็นตัวเลือกเวลาหิวของลูกค้า ยังไงก็ต้องพึ่งกลยุทธ์การสร้างการรับรู้ไม่ต่างจากสินค้าและบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในวันเวลาที่โลกใบนี้มีทางเลือกมากมาย ในขณะที่ความหิวของลูกค้า ต้องการเพียงตัวเลือกเดียวก็หายหิวไปหลายชั่วโมง… ไปดูกลยุทธ์พื้นๆ หรือท่าพื้นฐานทางการตลาดของธุรกิจอาหารด้วยกันเลยครับ
1. กลยุทธ์แจกตัวอย่างให้ชิม
สินค้าอาหารที่มีจุดเด่นด้านรสชาติ ถ้าลูกค้าไม่ได้ชิม ลูกค้าจะไม่รู้ว่าอาหารของเราอร่อยขนาดไหน ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญคือ ทำให้ลูกค้าลองชิมสินค้าของเราให้ได้ เมื่อลูกค้าถูกใจในรสชาติ จะทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างสำหรับให้ลูกค้าชิมต้องมีปริมาณมากพอที่จะชิมจนรู้รสชาติ และเนื้อสัมผัส
2. กลยุทธ์เอากลิ่นมายั่วเอาครัวมาโชว์
ผู้ประกอบการร้านอาหารยุคใหม่มักจะเปิดโชว์ให้เห็นครัวและเชฟในขณะปรุงอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในขั้นตอนการปรุงอาหารว่าสด และสะอาด หรือร้านเบเกอรีที่มักจะมีเตาอบมาตั้งหน้าร้าน เพื่อให้เกิดกลิ่นหอมดึงดูดใจผู้บริโภค
3. กลยุทธ์สินค้าใหม่
มีการวางแผนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบลองของใหม่…
4. กลยุทธ์รักสุขภาพ
สังคมในยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากขึ้น ทำให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ต้องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตลอดอายุขัย ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงอาหารเสริมสุขภาพ จึงกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์แบรนด์ใดที่ให้ความใส่ใจในด้านนี้ รวมถึงการมีตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและเป็นมิตรต่อสุขภาพ จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
5. กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์
ฉลากและบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีสีสันสวยงาม สดใส และที่สำคัญต้องมีรูปถ่ายอาหารที่ตกแต่งอย่างสวยงาม น่ารับประทาน ชนิดที่เห็นรูปแล้วอยากรับประทานกันเลยทีเดียว รวมถึงเลือกใช้ประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ให้สามารถปกป้องรักษาคุณภาพของอาหารได้ตลอดอายุการเก็บรักษาสินค้า
6. กลยุทธ์การสำรวจความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า
กิจการควรยอมเสียเวลาทำการสำรวจความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสอบถามลูกค้ามาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ หรือรสชาติสินค้า รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่
7. กลยุทธ์มาตรฐานในระดับสากล
ผลิตภัณฑ์อาหารผู้บริโภคที่ต้องการนั้น ไม่ได้ต้องการแค่ความอร่อย แต่ยังต้องการความปลอดภัยในการบริโภคด้วย ดังนั้นผู้ผลิตจึงควรดำเนินการขอรับรองมาตรฐานในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าว่า ทั้งอร่อย สะอาด มีคุณภาพและปลอดภัยในการบริโภค
ลองเลือกไปใช้เพิ่มยอดขายขยายกิจการกันดูครับ…