ธุรกิจอาหารและ ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใครหลายๆ คนคิดและอยากจะเป็นเจ้าของ ซึ่งการเปิดร้านอาหารไม่ใช่ของยากสำหรับคนที่ทำอาหารเป็น โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานในร้านอาหารมาก่อน… แต่การทำร้านอาหารให้อยู่ได้จนถึงขายดีสำหรับมือใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย… โดยเฉพาะร้านที่ต้องจ่ายค่าเช่าราคาสูงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ… ซึ่งทำเลร้านอาหารถือว่าเป็นโมเดลค่าเช่าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดีที่สุดโมเดลหนึ่ง ในขณะที่คนทำร้านอาหารที่ต้องจ่ายค่าเช่า ไปกับทำเลที่คนผ่านน้อยกำลังซื้อต่ำแต่ค่าเช่าแพงก็ต้องคิดให้หนัก
ข่าวดีคือ… การเช่าทำเลตั้งร้านอาหารก็มีข้อดีเรื่องลงทุนเริ่มแรกต่ำกว่าและการโยกย้ายร้านได้ง่ายถ้าถึงทางตัน ยิ่งในปัจจุบันมีโมเดลอาหารสั่งส่ง ที่ร้านชื่อดังและคนรู้จักค่อนข้างดีสามารถทำเงินจาก Food Delivery ได้เป็นกอบเป็นกำ โดยมีหน้าร้านทำเลดีเป็นช่องทางโฆษณาไปในตัว… การจ่ายค่าเช่าทำเลที่ติดป้ายได้เด่นเห็นชัดกับคนสัญจรผ่าน แล้วดึงรายได้จาก Food Delivery ออกมาเป็นงบโฆษณา ช่วยค่าเช่าทำเลดีก็ได้เหมือนกัน
ส่วนการเลือกทำเลตั้งร้านอาหารในกรณีที่ไม่มีที่ทางเป็นเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ก่อน… โดยส่วนตัวจะแนะนำให้เริ่มต้นที่กำหนดตัว “ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก” ให้ชัดเจนก่อนเช่น… ขายข้าวมันไก่ให้คนทำงานประจำเข้างานแปดโมงเช้าแวะกินหรือแวะซื้อมื้อเช้า และคนทำงานประจำกลับมากินมื้อกลางวัน แล้วปิดร้านพักผ่อนตั้งแต่บ่ายสามโมง… ข้อกำหนดเรื่องลูกค้าทำงานประจำที่มีจำนวนพอจะแวะกินข้าวมันไก่ ต้องนับได้จริงเมื่อไปสังเกตุในทำเลจริงตามเวลาที่อยากได้ลูกค้าเข้าร้าน… และถ้าจะให้ดีควรต้องวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือ Insight ของลูกค้าหลักที่เราต้องการสื่อสารและเรียกเข้าร้านมากๆ ด้วย… เพื่อให้ทั้งหมดสามารถนำไปสู่การออกแบบกลยุทธ์และการสื่อสารทางการตลาดของร้านอาหาร
ถึงตรงนี้ท่านคงทราบแล้วว่า… ทำเลแรกที่แนะนำคือ ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และขอให้ทำความรู้จักลูกค้าอย่างดีจนรู้วิธีทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้อง… เพราะการมีลูกค้าและมีลูกค้าที่ชอบอาหารที่ท่านทำขาย หมายถึงความอยู่รอดของกิจการที่ต้องใส่ใจรายละเอียดให้ได้มากที่สุด
ประเด็นต่อมาที่ต้องคำนึงคือ… การเดินทางสะดวกทั้งลูกค้า Walk-in และ Food Delivery Services… ถ้ามีที่จอดรถเพียงพอด้วยจะยิ่งดีมาก
นอกจากนั้น ควรลงทุนกับทำเลที่สังเกตุเห็นได้ง่าย… แม้ในปัจจุบันจะสามารถใช้โซเชี่ยลมีเดียและโครงข่ายออนไลน์ เผยแพร่ตำแหน่งที่ตั้งหรือสื่อสารทางการตลาดก็ตาม… แต่ธุรกิจร้านอาหาร ลูกค้าหลักคือกลุ่มคนที่ผ่านไปมาแวะง่ายเป็นหลัก โดยเฉพาะร้านที่เริ่มใหม่ยังไม่มีชื่อเสียงถึงขั้นจะมีคนดั้นด้นมากิน…
สุดท้ายคือ… ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมทั้ง POS หรือ Point Of Sale หรือเครื่องแคชเชียร์… รวมทั้งซอฟแวร์ RRP หรือ Restaurant Resource Planning ซึ่งในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายผู้ให้บริการ Food Delivery กันหมดแล้วเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเก่งกาจถึงขั้นแจ้งเตือนวัตถุดิบในร้านทั้งของขาดและของขายไม่ออกได้ด้วย… และที่สำคัญคือ Digital Marketing Tools ทั้งหลาย ซึ่งคนทำร้านอาหารต้องวางแผนตั้งแต่เลือกทำเลร้านว่าจะสื่อสารการตลาดในช่องทางดิจิตอลแบบไหนอย่างไร และรายละเอียดเรื่องการลงทุนกับเทคโนโลยีว่าจะลงทุนแค่ไหนอย่างไร… ต้องสัมพันธ์กับทำเลร้านและ Operation ของร้าน… ข้อควรระวังก็คือ การลงทุนกับเทคโนโลยีต้องพอดีกับโมเดลร้าน มากไปก็แพงเกินจำเป็น น้อยไปก็ไร้ประโยชน์
ครับผม!