สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวง อว. ได้จัดเวที Recover Forum เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน หาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยหลังวิกฤต COVID19 ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นการจัดสัมนาออนไลน์ โดยมีไฮไลท์ประเด็น ทิศทางการขับเคลื่อน EEC ยุคหลังโควิด มี ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เกียรติบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยน
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เปิดประเด็นว่า… ประเทศไทยโชคดีที่สามารถควบคุมสถานการณ์ COVID19 ได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของอีอีซีได้รับผลกระทบจาก COVID19 เช่นกัน แต่ยังเชื่อมั่นว่าแผนการลงทุนในอีอีซียังไปถึงเป้าหมายเหมือนเดิมเพียงแค่ขยายเวลาออกไปเพื่อทดแทนในช่วงที่ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม… จากการที่จีนฟื้นประเทศได้เร็วส่งผลให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย พลิกกลับมาดี มีการนำเข้าทุเรียน มังคุดและข้าว ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนและมังคุดทำรายได้ได้ดี ข้าวราคาดี เพราะเราเร่งการส่งออกทันทีที่มีโอกาส
นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรม 5G กลุ่มโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ กลุ่มการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย ธุรกิจชุมชนที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมสุขภาพดี เป็นต้น ซึ่งต้องมีการหารือเพื่อการต่อยอดให้เป็นเรื่องเป็นราวต่อไป
สำหรับมาตรการสำคัญ ที่ได้มีการหารือกันในคณะกรรมการอีอีซี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย…
1. การหารือถึงการให้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2. การขยายตลาดส่งออกกับประเทศที่มีการฟื้นตัวเร็ว เช่น CLMV จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น
3. การบรรเทาปัญหาการว่างงาน การจัดหางานภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม
4. การฝึกอบรมทักษะความรู้ที่มีความจำเป็นในอนาคต เพื่อ Upskill – Reskill โดยถือโอกาสในวิกฤตครั้งนี้เตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้เต็มที่เพื่อรองรับการกลับมาเดินเครื่องของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการกำลังคนทักษะสูงขึ้น
5. การสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ดึงคนไทยที่จากเดิมที่เดินทางไปเที่ยวแต่ต่างประเทศ ให้กลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น
6. การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การสร้างตลาดสด แหล่งน้ำ
7. สนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชน ในการลงพื้นที่เก็บและหาข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสำมะโนประชากร เป็นต้น
ส่วนประเด็นการเดินทางระหว่างประเทศ… ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า… ขณะนี้ อีอีซีอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นความร่วมมือในการสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กรหรือบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครข้าราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่มีความไม่สะดวกในด้านการหาบริการตรวจสุขภาพ และยังอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการร่วมกันพิจารณากำหนดประเทศต้นทางและจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ในแต่ละช่วงเวลา
การร่วมกันกำหนดมาตรการกักกันแบบ Flexible Alternative Quarantine ให้บุคลากรที่เดินทางเข้ามา สามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ ภายใต้หลักการการกักกัน การร่วมกันพิจารณาการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็น Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี โดยมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาประเทศต้นทางได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพ
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า… ในช่วงโควิด อีอีซีได้รับผลกระทบเรื่องการทำงาน พวกเราทำงาน Work From Home กัน 100% แต่สิ่งที่เราเห็นคือ VDO Conference ทำให้เราเจอซีอีโอจากทั่วโลก ที่สภาวะปกติเราไม่มีโอกาสได้เจอคนเหล่านั้น… แต่ COVID19 ทำให้ได้มาประชุมร่วมกันจำนวนมหาศาล เชื่อว่าการประชุมลักษณะนี้จะมีต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งเป็นวิถีใหม่ทั่วโลก… ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราได้กลับมาจากวิกฤตครั้งนี้ คืออุตสาหกรรมใหม่ที่มีทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เข้ามาคุยและสนใจการลงทุนเรื่องดิจิทัลมากขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากำลังคน ตลอดจนให้ความมั่นใจในการผลิตกำลังคนตอบโจทย์ประเทศตามนโยบายของกระทรวง อว. ว่า…
ขณะนี้กระทรวง อว. ได้ดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนากำลังคนในทุกมิติ ทั้งการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาออกแบบหลักสูตรเสริมทักษะ Reskill – Upskill ระยะสั้น – ระยะยาว ผ่านโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ ทั้ง Reskill / Upskill / Newskill เพื่อการมีงานทำ และเตรียมความพร้อมรองรับการหางานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของ COVID19
โดย อว. สนับสนุนค่าลงทะเบียน 95% – 100% และเป็นหลักสูตรในรูปแบบ Online… โครงการจัดตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานหลักสูตรและหน่วยฝึกอบรมเพื่อการพัฒนากำลังคน ตามความต้องการของประเทศ ภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package สำหรับสถานประกอบการ…
โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ที่มีทักษะเข้าข่ายตามประกาศกำหนด Future Skills Set หรือ ทักษะความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ต้องการ ตามประกาศของ อว. สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีได้ 1.5 – 2.5 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าว
เพื่อรองรับการยกระดับทักษะของบุคลากรภายในประเทศให้มีทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการวางระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ทั้งในรูปแบบของการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร หรือ Non-degree และหลักสูตรระดับปริญญา หรือ Degree
นอกจากนี้ ในระยะ 3 – 6 เดือน อว. ยังได้สนับสนุนการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่หรือคนว่างงานลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างงานและให้นักศึกษามีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ตามนั้นครับ!!!
อ้างอิง