ผมจั่วหัวใช้คำว่าเทคโนโลยีในหัวข้อ ซึ่งก็ขัดเขินไม่น้อยที่จะบอกว่า… ที่จริงก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มาเล่าเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเพื่อนฝูงหลายท่านส่งข้อความเชียร์เข้ามาให้ผมค้นข้อมูลตั้งแต่ประเด็นพันธุกรรมสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ไปจนถึงแปรรูปและการตลาด… ซึ่งผมขอบคุณทุกข้อความตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง และเรียนอีกครั้งถึงท่านที่สนใจเพาะเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลักและอาชีพรองว่า… ติดต่อประมงจังหวัดที่ท่านอยู่ดีกว่าครับ
ประเด็นเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาสายพันธุ์ต่างๆ ที่เพาะเลี้ยงกันในสภาพแวดล้อมปิด หรือเลี้ยงในบ่อ หรือแม้แต่เลี้ยงในอาคารด้วยบ่อปลาสารพัดไอเดียตั้งแต่บ่อปูนจนถึงบ่อผ้าใบ… ก็ไม่ได้มีอะไรทางเทคนิคที่เรียกว่าเทคโนโลยีได้เต็มปากหรอกครับ… ที่อธิบายแบบนี้เพราะข้อมูลที่ผมมี ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่กำหนดแนวโน้มใหม่ให้ตื่นตาตื่นใจเหมือนเกษตรกรรมสายอื่น ยกเว้นก็แต่โครงการสร้างเกาะประดิษฐ์ หรือ Artificial Island หรือ Man Made Island ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าจะเป็นการวิวัฒน์ขึ้นเพื่อเลี้ยงปลาปูหอยกุ้งน้ำเค็มเป็นหลัก… แม้จะมีไอเดียเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ด้วย แต่ก็ยังเป็นเทคนิคเพาะเลี้ยงในกระชังอยู่ดี
ข้อดีของการไม่มีอะไรใหม่ก็คือ… อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีโอกาส “ล้มเหลวและถูก Disrupted น้อยมาก” ในยุคที่อะไรๆ ก็ถูกกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้ำๆ ถาโถมเข้าทดแทนสิ่งเดิมแทบจะทุกอย่าง
เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบ RAS หรือ Recirculating Aquaculture Systems หรือแนวคิดประมงหมุนเวียนนั้น… จะบอกว่าเป็นของพื้นๆ ก็มีเทคโนโลยีให้พูดถึงอยู่หลายมิติ แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นเทคโนโลยีเลิศล้ำน่าตื่นตา… ท่านที่ทำฟาร์ม RAS อยู่ก็คงหัวเราะผมตกเก้าอี้กันหมดเหมือนกัน
เอาเป็นว่า ท่านที่สนใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ… ลองศึกษา RAS และลองหาโอกาสไปดูฟาร์ม RAS ของจริงซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเลยครับ ผมไม่บอกว่าอะไรที่ไหน เพราะค้นใน Google หรือ Facebook ก็มีข้อมูลมากมาย ตั้งแต่ฟาร์ม RAS ปรับอุณหภูมิเพื่อเลี้ยงปลา Sturgeon เอา Caviar หรือไข่คาเวียร์… ซึ่งเมืองไทยมีฟาร์ม Sturgeon ในน้ำเย็นจัดกับเขาด้วย… ส่วนฟาร์ม RAS ปลาดุกหรือปลานิลและอีกสารพัดปลาก็ไม่ต้องพูดถึง… มีให้แวะชมขอความรู้ได้หมด
หลักสำคัญของ RAS Farm ก็คือ ระบบกรองบำบัดน้ำที่ออกแบบเพื่อ…
1. เอาอุจจาระ และอาหารที่ปลากินไม่หมด รวมทั้งวัตถุขนาดเล็กและของเสียอื่นๆ ที่มาจากกิจกรรมในชีวิตของปลาโดยการกรองทางกล ด้วยดรัมฟิลเตอร์ หรือ Drum Filter และสคิมเมอร์ หรือ Skimmer
2. ลดปริมาณแบคทีเรียมีชีวิตในน้ำด้วยการเติมโอโซน
3. ช่วยการสลายตัวของสารอินทรีย์ต่างๆ และกรองแยกด้วยไบโอฟิลเตอร์
4. แปลงแอมโมเนียที่เป็นพิษไปเป็นไนเตรต
5. แยก CO₂ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ออกด้วยไบโอฟิลเตอร์
6. เพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยไบโอฟิลเตอร์และเครื่องกำเนิดออกซิเจน
รายละเอียดทางเทคนิคผมขอไม่แจงมากกว่านี้ดีกว่าน๊ะครับ… เพราะระบบ RAS จำเป็นต้องออกแบบและติดตั้งโดยผู้เชี่ยงชาญ ซึ่งข้อมูลในมือผมทั้งหมดมีบริษัทรับออกแบบติดตั้งตามโจทย์ของฟาร์มเฉพาะให้บริการอยู่แล้ว
อย่างที่เรียนไปเสมอว่า… โมเดลเกษตรกรรมเป็นทางออกหนึ่งของการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เสี่ยงน้อยกว่าโมเดลอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่… กรณีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบ Indoor RAS สำหรับผมคิดว่า “เป็นแนวทางเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายภูมิทัศน์หรือหน้าดินเหมือนการทำบ่อดิน”… ซึ่งทัศนส่วนตัวคิดว่า การขุดบ่อเลี้ยงปลาเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากขุดดอยทำนาขั้นบันไดทีเดียว!
ที่เด็ดกว่านั้นในทัศนของผมคือ ขนาดของตลาดรวม หรือ TAM หรือ Total Addressable Market ของสัตว์น้ำมีขนาดมหึมามาก… ในขณะที่เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงน้อยเข้าขั้นนิ่งจนไม่พบแนวโน้มการถูก Disrupted จากอะไรในเร็วๆ นี้
ลองพิจารณาดูน๊ะครับ!!!