ปัญหามาตรฐานสินค้าเกษตรที่นำออกสู่ตลาด ด้วยคำโฆษณาอวดอ้างมาตรฐานเลอเลิศมากมายตั้งแต่ปลอดสาร ออแกนิค ใช้เนื้อเยื่อเพาะพันธ์ และอะไรอีกสารพัดที่อวดอ้างเพื่อให้ขายได้ราคาดี ทั้งๆ ที่รอยหนอนแทะใบชั้นนอกที่ลูกค้าปลายทางเห็น อาจจะเป็นเทคนิคสร้างสรรค์รอยหนอนแทะจากเกษตรกรใสซื่อ ที่ยอมลำบากประดิษฐ์รอยเลียนแบบเพื่อเอาใจลูกค้าคนเมืองที่รักสุขภาพ การศึกษาดีและมีความรอบคอบระแวดระวังเกี่ยวกับอาหารการกินอย่างถี่ถ้วน
ประเทศไทยมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. คอยกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้การยอมรับตามมาตรฐานสากล แต่ปัญหาในการดำเนินงานก็คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรระดับประเทศ ทำให้ไม่มีหน่วยงานในระดับภูมิภาค จึงทำให้เกิดช่องว่างในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารระหว่างเจ้าหน้าที่ มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการ จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตร หรือ โครงการ Q อาสา ในปีงบประมาณ 2559 ให้แก่ผู้นำกลุ่มเกษตรกร ตัวแทนสภาเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือ อกม. ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สระแก้ว และพัทลุง เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นเสมือนตัวแทนของ มกอช. ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่าง มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยพัฒนากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ มกอช. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการจัดการระบบการผลิตที่ดีในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่าย Q อาสาขึ้น เพื่อผลักดันให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปี 2559 ได้มีบทบาท ในการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรในการตรวจประเมินเบื้องต้น หรือ Pre Audit โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร ก่อนที่จะส่งรายชื่อเกษตรกรให้กรมวิชาการเกษตรมาตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองต่อไป
ประเด็นผลักดันสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP หรือ Good Agricultural Practices ด้วยโมเดลตัวแทนในชุมชน เหมือนที่กระทรวงสาธารณสุขใช้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ช่วยงานในชุมชนจนเข้มแข็งและแสดงพลังจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกในวิกฤตโควิด… ซึ่งผมก็หวังว่า Q อาสาของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์ด้านเกษตรกรรมของไทยสู่การกินดีอยู่ดีร่วมกันในท้ายที่สุด
References…