ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในระหว่างเรียนซึ่งถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมมานาน และ ทำลายโอกาสของแม่วัยรุ่นผู้เข้มแข็งพอที่จะเก็บครรภ์ และ ลูกในท้องเอาไว้ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสังคมรอบด้านทั้งทางตรง และ ทางอ้อม โดยหลายกรณีได้กระทบถึงอนาคตตลอดชีวิตของคนๆ หนึ่งรวมทั้งเด็กอีกคนหนึ่งอย่างน่าเห็นใจ
ความพยายามในการจัดการปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน รวมทั้งกรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเชิงนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งชัดเจนในที่สุดเมื่อราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” โดยมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญในการกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียน หรือ นักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ไม่สามารถบังคับให้นักเรียน หรือ นักศึกษาคนนั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว… เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษาคนนั้น
เพราะแนวปฏิบัติที่ผ่านมา… มีนักเรียน หรือ นักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ระหว่างเรียนถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษา หรือ ให้ออกโดยไม่ได้สมัครใจ… จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียน หรือ นักศึกษา โดยให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม และ ต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียน หรือ นักศึกษานั้น
บทความจากสำนักข่าว BBC ภาคภาษาไทยชี้ว่า… กรณีนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษาครั้งสำคัญ… ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติของบุคลากรทางศึกษา และ บุคคลในครอบครัวให้มีจิตสำนึกในการเคารพสิทธิทางการศึกษาของนักเรียน และ ยังจะนำไปสู่การสร้างระบบดูแลวัยรุ่นตั้งครรภ์ในระหว่างเรียนอย่างเหมาะสม และ ต่อเนื่องในอนาคต
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษา ก่อนหน้านี้มีนักเรียนหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีทางเลือกจำต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน
เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้เผยแพร่การบรรยายพิเศษของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และ กรรมการบริหาร กสศ. ถึงปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 ว่า… เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปัญหาพ่อแม่วัยใสถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากสถิติมีตัวเลขสูงกว่า 120,000 คน… ในจำนวนนั้นเป็นเด็กที่มีอายุ 10–14 ปี กว่า 3,700 คน และ เป็นเด็กอายุ 15-19 ปีจำนวนกว่า 128,000 คน…
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ให้ข้อมูลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งพบว่า… ตัวเลขวัยรุ่นตั้งครรภ์ได้ลดลงมาตามลำดับ จนถึงขณะนี้ ตัวเลขแม่วัยรุ่นอยู่ที่ประมาณ 56,000 คน… โดยพบเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 10 – 14 ปี ลดลงจาก 3,700 กว่าคน เหลือ 1,783 คน… โดยในทางนโยบายได้ตั้งเป้าว่าเด็กในช่วงอายุ 10–14 ปี ที่ไม่ควรมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ให้เหลือเพียง 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ส่วนในช่วงวัย 15–19 ปี ต้องลดลงมาให้เหลือ 28.7 และ เป้าหมายคือ 25 ต่อประชากร 1,000 คน
ในขณะเดียวกัน… กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานเพื่อลดอัตราการท้องไม่พร้อมอย่างอย่างต่อเนื่อง สามารถทำให้อัตราดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และ ยังได้กำหนดให้มีเป้าหมายใหม่คือ ให้อัตราการตั้งครรภ์ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี อยู่ที่ 15 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2570 และ ยังคงค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน
References…