เมืองซโวลเลอ (Zwolle) เป็นเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซโวลเลออยู่ห่างจากเมืองหลวง ราวๆ 120 กิโลเมตร มีคนอยู่อาศัยราว 120,000 คน

ผมไม่เคยไปซโวลเลอ หรือแม้แต่เนเธอแลนด์มาก่อน เพียงแต่หลายวันก่อนได้พูดคุยกับเพื่อนเก่าท่านหนึ่งที่ไปอยู่เนเธอแลนด์เสียหลายสิบปี เธอกับสามีชาวเนเธอแลนด์เป็นนักปั่นจักรยานและใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักที่ซโวลเลอ
เธอพูดถึงทางจักรยานที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล และยกมาติดตั้งเป็นทางจักรยานที่ชาวเมืองภูมิอกภูมิใจ…
ผมกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมตามประสาอารมณ์อยากรู้อยากเห็น และเพื่อนไม่สามารถตอบคำถามซอกแซกแบบ “หนูจามัย” ของผมได้
ผมตามข้อมูลไปจนถึง plasticroad.eu จึงได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาเล่าแบ่งปันครับ
PlasticRoad เป็นความร่วมมือระหว่าง KWS, Wavin และ Total ที่ได้จับมือร่วมกันวิจัยและพัฒนาจนได้ Prefab Road ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล และติดตั้งใช้งานในชุมชนจริงที่เมืองซโวลเลอครับ
4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่ PlasticRoad เคลมว่าถนนของพวกเขาดีกว่าถนนที่สร้างจากวัสดุอื่นๆ และเทคนิคการก่อสร้างแบบอื่นคือ
- อายุการใช้งานยาวนานกว่าถนนแบบอื่น 3 เท่า เทียบเวลาซ่อมปรับผิวถนนหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน
- ลดเวลาการก่อสร้างลง 70%
- โครงสร้างถนนเบากว่าวัสดุทำถนนอื่นๆ ถึง 4 เท่า
- ทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิล 100 % และสามารถรีไซเคิลตัวเองได้ 100%
การรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญงานสร้างทางอย่าง KWS ก็ดี ผู้เชียวชาญงานวิศวกรรมระบบท่ออย่าง Wavin ก็ดี หรือผู้ค้าน้ำมันและปิโตเคมีระดับโลกอย่าง Total ก็ดี… สำหรับผมมองว่า นี่ไม่ใช่งานวิจัยที่มีเป้าหมายธรรมดาๆ เพื่อรีไซเคิลขยะ… เพราะถนนแบบนี้สามารถขนไปติดตั้งใช้งานบนนิคมนอกโลกอย่างดวงจันทร์หรือดาวอังคารได้เลย
ส่วนเรื่อง Load Performance หรือน้ำหนักบรรทุกสำหรับ PlasticRoad ผมยังไม่พบข้อความกล่าวอ้างอย่างเป็นทางการบนเวบไซด์ เพียงแต่มีภาพ render จากซอฟแวร์ออกแบบ 3D CAD/CAM แปะไว้ในเวบไซด์ plasticroad.eu ให้เห็นภาพรถบรรทุกคู่กับ PlasticRoad… ก็ไม่น่าจะยากเกินไปที่จะออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกให้สามารถใช้งานได้เทียบเท่าถนนคอนกรีต
ผมตามไปค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรสากลที่ patents.google.com และด้วย keyword: plasticroad ผมได้ results สูงถึง 404 รายการครับ… ผมไล่ดูคร่าวๆ ทั้งหมดที่ทีอยู่ราวๆ 10 หน้าพอดี ไม่ยักเจอเลขที่สิทธิบัตรที่ขึ้นต้นด้วย TH ซักรายการ
…แล้วถนนยางพาราของกรมทางหลวง ไม่คิดจะจดสิทธิบัตรหรือพัฒนาต่อยอดอะไรเลยเหรอครับ!!!