ในที่สุด ความพยายามของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะหลุดหนี้และพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรก็ชัดเจนด้วยแผนการพัฒนาโครงการที่ดินแปลงใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556
ซึ่งคุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ทำเรื่องเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากรอบการลงทุนมูลค่า 369,662 ล้านบาท ได้แก่
- ที่ดินย่าน กม.11 (จตุจักร-ลาดพร้าว) เนื้อที่ 359 ไร่
- ที่ดินย่านมักกะสัน 347 ไร่ เหลือจากเอกชนที่ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไป 150 ไร่
- สถานีแม่น้ำ เนื้อที่ 277 ไร่
คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2562 รอเพียงการอนุมัติของคณะกรรมการ PPP เท่านั้น
ส่วนที่ดินโซน A ของสถานีกลางบางซื่อ เนื้อที่ 35 ไร่ บอร์ด PPP อนุมัติแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะเปิดประมูล โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ภายใต้รูปแบบ BOT คือ สร้าง บริหาร และโอนกรรมสิทธิ์ให้ ร.ฟ.ท. เมื่อครบกำหนดสัญญา ในระยะเวลา 34 ปี ส่วนแผนก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี และดำเนินธุรกิจตลอด 30 ปี มีมูลค่าลงทุนรวม 15,400 ล้านบาท
รายละเอียดข่าวอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ส่วนประเด็นที่ผมจะแตกมาพูดคุยกับทุกท่านคือ แผนการเดินทางและขนส่งทางรางของไทย ชัดเจนเป็นรูปธรรม และก่อรูปก่อร่างให้เห็นการเริ่มต้นของ “ยุคทองแห่งการใช้ระบบรางเพื่อการคมนาคมอย่างแท้จริง”
ผมคิดว่า อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นบนผืนดินศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นมรดกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จะนำความมั่งคั่งแห่งโอกาส มาสู่พวกเราทุกคน
ถ้าท่านคือนักลงทุนรายใหญ่… ตามข่าวการประมูลที่ดินทุกแปลงของการรถไฟฯ เอาไว้ครับ ส่วนท่านที่เป็นนักลงทุนรายกลางรายเล็ก เกาะติดข่าวสถานีกลางบางซื่อและ กม.11 เอาไว้ครับ สำหรับช่วงนี้… ส่วนนักลงทุนต่างจังหวัดก็แวะไปดูสถานีรถไฟชุมทางหลักๆ ใกล้บ้านท่านน๊ะครับ
… ผมว่ารถไฟมีที่นั่งสำหรับทุกวัตถุประสงค์การลงทุนและทำมาหากินแน่ครับ