ไทยเป็นประเทศที่มีอะไรแปลกๆ ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ และ โครงสร้างพื้นฐานมากมายที่ย้อนแย้งอย่างน่าตกใจ เช่น น้ำท่วมก็ด่า จะทำเขื่อนทำฝายชะลอน้ำก็ด่า น้ำแล้งมาก็ด่า… แถมคนที่ด่าเสียงดังก็มักจะเป็นคนๆ เดิม หรือ กลุ่มเดิมๆ นั่นเองที่วุ่นวายด่าไปทุกเรื่อง… ส่วนกรณีปุ๋ยแพงก็โวยวาย จะทำเหมืองโปแตช หรือ Potash ซึ่งเป็น “แม่ปุ๋ย หรือ วัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย” ก็โวยวาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องความย้อนแย้งที่มีแต่คนไทยเท่านั้นที่มีสิทธิ์เสรีกันได้ขนาดนี้

ปัญหาปุ๋ยแพงและขาดแคลนจากสงครามยูเครน ซึ่งประเทศรัสเซียในฐานะผู้ส่งออกแร่โปแตชรายใหญ่สำหรับผลิตปุ๋ย ต้องมาติดขัดเรื่องขายของกลัวไม่ได้เงิน เว้นแต่คนซื้อจะยอมจ่ายเป็นรูเบิล หรือ Russian Ruble ซึ่งอะไรๆ ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022… โดยก่อนหน้านั้นก็มีการผูกขาดการซื้อแร่โปแตชโดยจีนซึ่งเศรษฐกิจการเกษตรของจีนต้องการปุ๋ยอีกมหาศาล เกินกำลังผลิตในประเทศจีนมาก… ปัญหาปุ๋ยแพงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจึงไม่ใช่ปัญหาใหม่สำหรับประเทศไทยที่ยังต้องหาทางกันต่อไป และ จำเป็นต้องสำรวจและอนุญาตให้เปิดเหมืองโปแตช
ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ… มีรายงานการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชใต้ดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400,000 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ อาจจะใหญ่ที่สุดในโลก… แต่ความพยายามในการสำรวจระดับพิกัดการทำเหมือง และ ออก “ประทานบัตร” จากรัฐ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็ติดขัดล่าช้ามานาน… แต่ความหวังที่จะสร้างโรงงานแม่ปุ๋ยด้วยตนเองภายใต้ “โครงการปุ๋ยแห่งชาติ” โดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตขึ้นในประเทศนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี หรือ ปุ๋ยโพแทสเซียม และ ลดการพึ่งพาโพแทสเซียมคลอไรด์จากต่างประเทศทั้งหมด… ก็ยังเป็นวาระแห่งชาติไทยอยู่
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… ประเทศไทยยังไม่มีการทำเหมืองแร่โพแทชเพื่อนำมาสกัดเป็นโพแทสเซียมคลอไรด์ และ นำไปผลิตปุ๋ยเคมีใช้ในประเทศอย่างเป็นทางการมาก่อน… และ ข้อมูลที่พอจะเชื่อถือได้ชี้ว่า… ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคมปี 2021 มีการนำเข้าโพแทสเซียมคลอไรด์เพื่อผลิตปุ๋ย 100% ด้วยปริมาณ 789,594 ตัน… โดยนำเข้าจากแคนาดา 301,895 ตัน… เบลารุส 193,075 ตัน… อิสราเอล 88,895 ตัน และ รัสเซียอีก 6,838 ตัน
ข่าวดีก็คือ… กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกมากระทุ้งเอกชนที่ได้รับ “ประทานบัตรเหมืองโปแตช” 3 รายแรกอย่างเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อน “โครงการปุ๋ยแห่งชาติ” ซึ่งเอกชนรายใหญ่ทั้ง 3 รายยังติดขัดและไม่สามารถเปิดเหมืองขุดโปแตชได้ตามสัญญาทั้ง 3 ราย ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราชี้ว่า… ปี พ.ศ. 2558 มีการเปิดแหล่งแร่โปแตชทั้ง ประทานบัตร และ อาชญาบัตรพิเศษ รวม 42 แห่งใน 10 จังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนเนื้อที่ 3.5 ล้านไร่ไปแล้ว
แต่หลายแห่งก็ยังไปไม่ถึงไหนจนปัจจุบัน เพราะยังเคลียร์เรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งก็สมควรจะต้องทำให้เคลียร์ก่อนดำเนินการ… ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ฤดูเพาะปลูกปี 2022 นี้ปุ๋ยแพงระยับแน่นอนแล้ว
References…